posttoday

วิกฤตมหา’ลัย

09 มีนาคม 2561

กรณีที่มีรายงานว่า มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาปิดตัวไปเป็นจำนวนมากและคาดการณ์ว่าในอนาคตจะมีมหาวิทยาลัยขนาดเล็กปิดตัวเพิ่มอีกหลายแห่ง

โดย...มะกะโรนี

กรณีที่มีรายงานว่า มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาปิดตัวไปเป็นจำนวนมาก และคาดการณ์ว่าในอนาคตจะมีมหาวิทยาลัยขนาดเล็กปิดตัวเพิ่มอีกหลายแห่ง โดยมีสาเหตุหลักๆ มาจากการที่ผู้คนจำนวนไม่น้อย หันไปเรียนทางอินเทอร์เน็ต และประชากรวัยเรียนก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่กล่าวข้างต้น อาจไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น เพราะ ภูมิภาคอื่นๆ แม้กระทั่งประเทศไทยกำลังประสบปัญหาในรูปแบบคล้ายคลึงกัน

ข้อมูลการสำรวจประชากร ระบุว่า เมื่อ 10 ปีก่อน ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ 1.1 ล้านคน/ปี แต่ปัจจุบันลดลงเหลือ 7 แสนคน/ปี กรณีนี้ย่อมส่งผลให้ประชากรวัยเรียนในระดับมัธยมที่จะเข้าสู่มหาวิทยาลัยลดลง ซึ่งยังไม่นับรวมไปถึงเด็กอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมาจากครอบครัวฐานะยากจนถึงปานกลางหันไปเรียนสายอาชีพ

ประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัย วิทยาลัย สถาบันการศึกษา ทั้งของรัฐ ในกำกับ รัฐและเอกชนมากถึง 170 แห่ง แต่จำนวนผู้เรียนลดลง ส่งผลให้หลายคณะวิชาของมหาวิทยาลัยบางแห่งมีผู้เรียนบางตา บางคณะบางสาขาถึงกับต้องปิดตัวลงไปอย่างเงียบๆ

นักการศึกษา ระบุว่า แต่ละปีหากนำจำนวนตัวเลขผู้เรียนในระดับอุดมศึกษาทั้งหมดมาหารเฉลี่ยกับจำนวนสถาบันอุดมศึกษา 170 แห่ง จะได้จำนวนผู้เข้าเรียนใหม่ประมาณปีละ 3,500 คน ขณะที่ตัวเลข ผู้เรียนใหม่ต้องอยู่ที่ 4,000-5,000 คน จึงจะถือว่าเป็นตัวเลขที่ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถบริหารจัดการอย่างมีกำไร หรือมีรายได้เพียงพอที่จะดำเนินการต่อไปได้ ตัวเลขที่น้อยลง ถือเป็นโจทย์สถาบันอุดมศึกษาทั้งหลายให้ความสำคัญ จนต้องดึงดูผู้เรียนด้วยการขยายหลักสูตรภาคต่างๆ แข่งกันเพื่อหารายได้

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กเพราะองคาพยพของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งนั้น ยังมีมิติด้านอื่นๆ ซุกซ่อนอยู่อีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น คณะวิชาของสถาบันที่ไม่มีชื่อเสียงพอที่จะดึงดูดผู้เรียน จนได้ตัวเลขผู้เข้าเรียนจำนวนต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ ย่อมส่งผลกระทบต่อการจัดสรรทรัพยากรให้กับผู้เรียน โดยเฉพาะเรื่องจำนวนและคุณภาพของอาจารย์ผู้สอนตามมาด้วย

ที่สุดแล้วอาจจะต้องหมายถึงการ จำกัดรายจ่ายด้านอื่นๆ ลงอีก เพื่อให้ประคองตัวไปได้ เพราะไม่อยากยุบหรือปิดคณะนั้นๆ ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคณะวิชานั้นๆ ไม่ได้ถือว่าเป็นสาขาที่มีคุณค่าทางวิชาการไม่สามารถที่จะขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาลโอกาสที่จะได้ไปต่อ หรือเปิดการเรียนการสอนต่อไปก็เป็นไปได้ยาก

ยังไม่นับถึงบุคลากรด้านอื่นๆ ที่จะต้องได้รับผลกระทบตามไปด้วยเป็นระบบลูกโซ่

แน่นอนว่า นอกจากจะต้องรับมือกับปัญหาผู้เรียนลดลงจนมหาวิทยาลัยต่างๆ หันมาแข่งขันกันเองแล้ว ทุกแห่งยังต้องหันมารับมือกับโลกออนไลน์ที่ตอบโจทย์การศึกษายุคใหม่ได้ดีกว่า เพราะโลกออนไลน์นั้นทำทุกวิถีทางอย่างรวดเร็วทันใจ เพื่อเป็นทางเลือกในการป้อนความรู้ให้ผู้เรียน จน ผู้สอนที่ปรับตัวไม่ได้ ต้องถูกลดบทบาทลงไปโดยปริยาย

ผู้เรียนในโลกยุคใหม่กำลังกระหายความรู้จากการศึกษาที่มีคุณภาพ จนกล่าวได้ว่า พอๆ กับกระหายเทคโนโลยีที่เปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองได้ ซึ่งหมายความว่า แหล่งการเรียนรู้เพื่อประกอบอาชีพอย่างมหาวิทยาลัย จะต้องปรับตัวให้เท่าทันความต้องการทันสถานการณ์ อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

มหาวิทยาลัยไทยจะต้องปรับตัวอย่างไม่สามารถปฏิเสธเงื่อนไขนี้ได้ และต้องเร่งมือ ก่อนจะเสียท่าให้กับโลกออนไลน์เช่นเดียวกับปัญหา ที่วงการอื่นๆ เคยประสบมาแล้ว