posttoday

ต้องเด็ดขาด

07 มีนาคม 2561

กรณีการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้และผู้ป่วยโรคเอดส์ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ใน จ.ขอนแก่น

โดย...สลาตัน

กรณีการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้และผู้ป่วยโรคเอดส์ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ใน จ.ขอนแก่น ภายใต้การกำกับของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ หลังจากถูกเปิดโปงทุจริตหักเงินหัวคิวผู้ป่วยและคนจน ทำให้หลายหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ อีกจำนวนมาก จนลุกลามไปทั่วประเทศ เพราะไปตรวจสอบจังหวัดไหนก็เจอการทุจริตเช่นนี้เป็นแถว

ที่ผ่านมาการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐพยายามเข้าไปขุดคุ้ยหาพยานหลักฐานในพื้นที่ บ้างก็ได้รับความร่วมมือดีและไม่ได้รับความร่วมมือ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ย่อท้อพยายามสืบสาวหาข้อมูลเพื่อไปให้ถึงต้นตอขบวนการนี้ให้ได้ แม้ที่ผ่านมาจะพยายามเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องก็ตาม

กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 52/2561 ให้พุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และณรงค์ คงคำ รองปลัด พม. มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี หลังมีข้อครหาเข้าไปพัวพันกับการทุจริตเงินสงเคราะห์ฯ ในครั้งนี้ จนแปดเปื้อนเสียหายต่อกระทรวงพัฒนาฯ อย่างมาก

ในระหว่างนี้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. กำลังไล่เช็กเส้นทางการทุจริตว่ามีข้าราชการระดับใดเข้ามาเกี่ยวพันหรือไม่ แม้ว่าการทำงานอาจดูเหมือนเชื่องช้าก็ตาม อันด้วยมาจากความร่วมมือที่ยังไม่ได้รับจากพื้นที่เท่าที่ควรทำให้การสืบเสาะข้อมูลค่อนข้างลำบาก ตอนนี้จับตรงไหนเจอร่องรอยทุจริตตรงนั้น จึงเชื่อและหวังว่าจะหาคนผิดมาลงโทษได้

ความเด็ดขาดที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีคำสั่งย้ายปลัดกระทรวงพัฒนาฯ ทำให้การตรวจสอบครั้งนี้ทางสะดวกขึ้น ด้วยตำแหน่งบริหารระดับสูงปลัดอาจเข้ามาล้วงลูกการทำงาน หรือเข้ามายุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ คำสั่งเด็ดขาดนี้จึงส่งสัญญาณชัดเจนว่ารัฐบาลเปิดทางให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจการทุจริตอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะช่วยเหลือกัน แต่ถ้าอีกมุมการขุดคุ้ยขบวนการทุจริตเงินสงเคราะห์ไม่มีคนผิด ประชาชนคงหมดหวังกับรัฐบาล

ตอนนี้ ป.ป.ท.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการทุจริตศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งฯ รวมแล้ว 24 จังหวัด โดยพบการกระทำในลักษณะเข้าข่ายทุจริตเพิ่มอีก 10 จังหวัด ได้แก่ 1.ยะลา 2.สงขลา 3.นราธิวาส 4.พัทลุง 5.ชุมพร 6.บุรีรัมย์ 7.สุรินทร์ 8.อ่างทอง 9.พิษณุโลก และ 10.ชัยภูมิ จากเดิมที่พบ 14 จังหวัด

ล่าสุดพบรูปแบบการทุจริตแบบใหม่ นับว่าเป็นพฤติการณ์สุดแย่ของขบวนการนี้ คือ มีการนำชื่อบรรดาข้าราชการท้องถิ่น และชื่อภรรยาของผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน มาเบิกงบดังกล่าว โดยบุคคลดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ เช่น ไม่ใช่ผู้ยากไร้ หรือเป็นผู้ป่วย ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบและรวบรวมหลักฐานต่างๆ เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด ป.ป.ท.ขออนุมัติตั้งอนุกรรมการไต่สวน

ขณะเดียวกันยังมีความพยายามของเจ้าหน้าที่บางรายที่พัวพันกับการทุจริตเงินสงเคราะห์ ชิงนำเงินเข้าไปจ่ายให้กับชาวบ้านที่ได้เงินไม่ครบก่อนหน้านี้ เพื่อหวังให้พยานที่เป็นชาวบ้านเปลี่ยนใจไม่เอาความกับเจ้าหน้าที่เหล่านั้น แบบนี้ถือว่าเป็นการกระทำที่ฉ้อฉล ถ้าหากเรื่องไม่แดงขึ้นมาชาวบ้านตาดำๆ ก็คงต้องรับเพียงเศษเงินที่เหลือจากพวกข้าราชการหิวโซนั้นไปตลอดชีวิต

จึงมั่นใจว่า "ความเด็ดขาด" เป็นเครื่องมือช่วยทำให้เกิดความสว่างไสวที่จะทำให้ขบวนการทุจริตเงินสงเคราะห์ต้องเข้าไปอยู่ในซังเต จมอยู่กับความมืดต่อไป