posttoday

สวนสาธารณะลอยน้ำ

06 กุมภาพันธ์ 2561

กรุงเทพมหานครกำลังขาดแคลนพื้นที่สีเขียว เพื่อให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นปอดฟอกอากาศให้กับเมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูงเสียดฟ้าแม้ว่าทาง

โดย...แสงตะเกียง

กรุงเทพมหานครกำลังขาดแคลนพื้นที่สีเขียว เพื่อให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นปอดฟอกอากาศให้กับเมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูงเสียดฟ้าแม้ว่าทาง กทม.มีโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็นนโยบายหลักก็ตามทีทว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพบางพื้นที่ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เพราะบางครั้งพื้นที่นั้นๆ อาจเป็นของเอกชนถูกปล่อยรกร้างไม่เกิดประโยชน์

ยิ่งไปกว่านั้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทำได้ยาก เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่แออัดไปด้วยบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยและมีแนวโน้มว่าสิ่งปลูกสร้างจะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จำนวนพื้นที่สีเขียวในเมืองสะท้อนได้จากเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่าเมืองใหญ่ ควรมีพื้นที่สีเขียวมากกว่า 9 ตารางเมตร/คน ซึ่งจากข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กทม. พบว่า พื้นที่สวนสาธารณะปัจจุบันของกรุงเทพฯ วันที่ 18 มิ.ย. 2560 มีจำนวน 7,642 แห่ง เนื้อที่ 22,134 ไร่ 76.04 ตารางวา พื้นที่ 35,414,704.16 ตารางเมตร

ขณะที่จำนวนประชากรของกรุงเทพฯ ของสำนักทะเบียนราษฎร์ ไม่รวมประชากรแฝงอยู่ที่ 5,686,646 คน อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรคิดเป็น 6.23 ตารางเมตร/คน หากนับรวมประชากรแฝง ซึ่งคาดว่ารวมแล้วจะมีประมาณ 10 ล้านคน ทำให้อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่ที่ 3.54 ตารางเมตร/คนเท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก กำหนดไว้มาก

แม้ว่าปีงบประมาณ 2560 กทม.วางแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้รวม ทั้งสิ้น 950 ไร่ โดยนับรวม 2 สวนสาธารณะที่เพิ่งเปิดใหม่ คือ สวนพระยาภิรมย์ และสวนสิรินธราพฤกษาพรรณด้วย ส่วนแนวทางการทำงานมีทั้งการบูรณาการพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานในสังกัด กทม. เช่น โครงการพัฒนาโครงข่ายพื้นที่สีเขียว พื้นที่นำร่องถนนสาทรที่ทำร่วมกับสำนักผังเมือง พร้อมทั้งเชิญชวนให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

หากทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้จะทำให้มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นอีก ตามนโยบายของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ที่ได้ตั้งเป้า แผนพัฒนา กทม. ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556-2575) ต้องมีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยต่อประชากร 9 ตารางเมตร/คน และรณรงค์ให้ประชาชนปลูกต้นไม้คนละ 1 ต้น ภายในบริเวณบ้านหรือพื้นที่ว่างเปล่า

จากปัญหาที่เกิดขึ้นนักออกแบบสถาปัตย์จึงได้ริเริ่มแนวคิดสร้างสวนสาธารณะลอยน้ำโดย สมยศ บุญสม นักออกแบบภูมิสถาปัตย์ ผู้ท้วงติง โครงการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาว่าอาจเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทางธรรมชาติมากกว่าได้พื้นที่แลนด์มาร์คราคาแพงโดยไม่จำเป็น

แต่หากเปลี่ยนมาใช้เรือเอี้ยมจุ๊น หรือเรือขนทรายที่มีขนาดใหญ่ นำมา ดัดแปลงเป็นสวนสาธารณะลอยน้ำ ขนาดประมาณ 32x8 เมตร แบ่งสัดส่วน ให้เป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้ขนาด 19x6.5 เมตร ประกอบด้วย การปลูกต้นเตยหอม หญ้าหนวดแมว ต้นตีนเป็ดน้ำ ฟ้าทะลายโจร รวมถึงพื้นที่สำหรับเด็กได้ วิ่งเล่น จัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสถานที่ ต่างๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

แนวคิดนี้สามารถนำไปใช้เป็นโมเดลให้ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคสังคม หากเห็นถึงประโยชน์สามารถนำไปต่อยอดได้ไม่จำกัด ด้วยต้นทุนดัดแปลงเรือประมาณ 1 ล้านบาท แต่ได้สวนสาธารณะลอยน้ำสวยงาม แปลกใหม่ และส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกด้วย คุ้มค่ากว่าลงทุนก่อสร้างทางริมแม่น้ำเจ้าพระยา งบประมาณมหาศาลที่อาจเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จนยาก จะกอบกู้คืนให้กลับมาได้หากผิดพลาดสูญเสียในอนาคต