posttoday

ในวงล้อมโรคซึมเศร้า

28 ธันวาคม 2560

เป็นเรื่องน่าวิตกไม่น้อย เมื่อกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ออกมาบอกว่า เยาวชนเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูงถึง 44% จึงไม่ใช่เรื่องที่ใครจะเพิกเฉยได้

โดย..กาคาบข่าว

เป็นเรื่องน่าวิตกไม่น้อย เมื่อกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ออกมาบอกว่า มีผลการศึกษาพบว่าเยาวชนไทยอายุ 10-19 ปี เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูงถึง 44% หรือประมาณ 3 ล้านกว่าคน จากเยาวชนวัยนี้ทั้งหมด 8 ล้านคน เรื่องนี้น่ากังวลเพราะเกิดขึ้นกับกลุ่มเยาวชนที่กำลังจะเติบโตขึ้นเป็นอนาคตของชาติ

พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม. ออกมาระบุด้วยว่า วัยรุ่นที่เสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าประกอบด้วย 4 กลุ่มใหญ่ คือ 1.ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคทางจิตเวช เช่น เป็นโรคซึมเศร้า โรคอารมณ์ 2 ขั้ว 2.มีโรคเรื้อรังทางกาย 3.ผู้ที่มีปัญหาทางด้านจิตสังคม เช่น อกหัก ใช้สารเสพติด ตั้งครรภ์ ปัญหาการเรียน ถูกเพื่อนข่มเหงรังแก เหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ฯลฯ

และ 4.กลุ่มที่มีครอบครัวไม่อบอุ่น รวมทั้งการเลี้ยงดูที่ขาดการสอนทักษะการจัดการอารมณ์ตนเอง จึงถือเป็นการบ้านของครอบครัว โรงเรียน ที่จะช่วยกันสร้างเกราะป้องกันโรคนี้

การจำแนกกลุ่มผู้ที่เสี่ยงต่อโรคนี้และสาเหตุให้ทราบพอสังเขป อาจจะทำให้คลายความกังวลลงไปได้บ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่าหากมองในภาพกว้างของสังคมกลับมองเห็นว่าผู้ป่วยและผู้ที่เสี่ยงกับโรคนี้กำลังตกอยู่ในวงล้อมของสารพัดปัจจัยที่ล้วนแต่ทำให้ยิ่งน่าเป็นห่วง

เริ่มจากประเด็นที่ว่าเยาวชนที่มีอาการป่วย หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงยังเข้าถึงบริการจากรัฐน้อย ทั้งเพราะการจำแนกผู้ป่วยและผู้มีอาการปกติ มีกลไกที่ค่อนข้างซับซ้อนละเอียดอ่อน ขณะที่จิตแพทย์ซึ่งเป็นผู้ที่ไขทางออกให้กับโรคนี้ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายนัก

จะเป็นเพราะการขาดการประชาสัมพันธ์ หรืออะไรก็ตาม ในแง่นี้เป็นสิ่งที่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องออกมาขยับทำงานให้เข้าถึงช่องทางทำความรู้จัก หาช่องทางรักษาในเชิงรุกให้มากกว่านี้

การยอมรับว่าป่วยเป็นโรคนี้หรือเผชิญหน้ากับโรคยังค่อนข้างจำกัด ทั้งกรณีผู้ป่วยเองอับอายกับโรคที่รุมเร้า และจมอยู่กับความคิดที่ว่าโรคนี้ยิ่งผลักไสให้กลายเป็นคนแปลกแยกของสังคม จำนวนไม่น้อยที่ไม่กล้าไปพบแพทย์

และสิ่งที่พบบ่อยเช่นกัน ก็คือความไม่เข้าใจในการปฏิบัติต่อผู้ป่วยที่เป็นสมาชิกในครอบครัว แม้จะไม่ถึงกับตั้งแง่รังเกียจ แต่การปฏิบัติต่อผู้ป่วยในบางครอบครัว ซึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจในโรค ยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการถดถอยลงไปอีก ประกอบกับเมื่อติดอยู่กับโครงสร้างทางสังคมยุคใหม่ ที่คนในครอบครัวต่างคนต่างอยู่ ผู้ป่วยหลายคนยิ่งถูกทอดทิ้งให้เผชิญกับปัญหา ทิ้งให้อยู่กับพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่อาการซึมเศร้าแต่โดยลำพังได้ง่ายขึ้นไปอีก

และสุดท้ายหากคำแนะในการรับมือกับโรคนี้เบื้องต้นที่หาได้จากโลกออนไลน์ บอกไว้ว่าใครมีอาการซึมเศร้า ต้องไม่นำตัวเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่ซับซ้อน อย่าตั้งเป้าหมายที่บรรลุได้ยาก หรือเข้าไปแบกความรับผิดชอบมากๆ อย่าคาดหวังกับตนเองมากเกินไป หากิจกรรมอย่างการออกกำลังกาย ดูหนัง กิจกรรมทางศาสนา หรือสังคม แต่อย่าหักโหมหรือหงุดหงิดถ้ามันไม่ช่วยให้รู้สึกสบายใจขึ้นอย่างทันทีทันควัน

ข้อแนะนำที่กล่าวมาดูจะสวนทางกับโลกยุค 4.0 ที่เร่งทุกๆ สิ่งให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซับซ้อนจนยากจะจับต้นชนปลายได้ง่าย และต้องแข่งขันทั้งกับตัวเองและคนอื่นๆ อย่างไม่จำกัดเวลาสถานที่ ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยอาจจะสร้างหายนะที่คาดไม่ถึง ใครที่ตกเป็นเหยื่อดราม่าในโลกออนไลน์มาแล้วย่อมทราบเรื่องนี้ดี

กรณีการศึกษาที่พบว่าเยาวชนเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูงถึง 44% จึงไม่ใช่เรื่องที่ใครจะเพิกเฉยได้