posttoday

แก้จนให้ยั่งยืน

14 พฤศจิกายน 2560

เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เมื่อ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่าจะเสนอแผนงานมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเฟส 2 ที่มาลงทะเบียน 11.67 ล้านคน

โดย... ณ กาฬ เลาหะวิไลย

เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เมื่อ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่าจะเสนอแผนงานมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเฟส 2 ที่มาลงทะเบียน 11.67 ล้านคน ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือน ธ.ค.นี้

มาตรการสำคัญคือการฝึกอาชีพเพิ่มความสามารถ โดยหากผู้มีรายได้น้อยที่ไม่มีอาชีพและไม่ยอมมาฝึกอาชีพ ในปีต่อไปรัฐบาลอาจจะพิจารณาตัดความช่วยเหลือการให้เงินช่วยเหลือเดือน 200-300 บาท โดยถือว่าไม่พยายามพัฒนาตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

หลังจาก ครม.เห็นชอบผลักดันดำเนินการให้เสร็จภายใน 6 เดือน

การฝึกอาชีพจะแบ่งเป็นรายอาชีพ เช่น ภาคเกษตรกรรมก็จะให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้รับผิดชอบให้เป็นเกษตรปลูกพืช ซึ่งรัฐบาลอาจจะรับซื้อผลผลิต หรือจะเป็นเอสเอ็มอี ด้านการเกษตร โดยมีการให้ผู้ลงทะเบียนแสดงเจตจำนงด้านความต้องการประกอบอาชีพขึ้นมา

แนวทางทั้งหมดจะต้องร่วมมือกันทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน เป็นการงานแบบบูรณาการ

สำหรับการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเฟสแรก ถือว่าประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการให้วงเงินซื้อของร้านธงฟ้าคนละ 200-300 บาท มีการใช้จ่ายซื้อสินค้าเดือนแรกถึง 2,900 ล้านบาท

ผลที่ตามมานอกจากทำให้ผู้มีรายได้น้อยมีเงินซื้อของแล้ว ยังทำให้ร้านค้ารายย่อยที่เข้าโครงการร้านธงฟ้ากลับมาคึกคัก จากที่ก่อนหน้านี้ซบเซา โดยจะร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ดึงร้านค้าในชุมชนเข้ามาอยู่ในโครงการร้านธงฟ้ามากขึ้น

ส่วนการเพิ่มสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติม จะต้องหางบประมาณให้ได้ก่อน โดยจะเป็นการเพิ่มสวัสดิการใหม่ๆ ไม่ได้ไปเพิ่มของเดิมที่มีอยู่แล้ว

ทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง การให้แบบไม่มีที่สิ้นสุดเป็นไปไม่ได้ ทางช่วยเหลือที่ถูกต้องก็ให้ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง เดินตามศาสตร์พระราชา

นอกจากการช่วยเหลือด้านอาชีพแล้ว อีกด้านที่กำลังทำพร้อมกัน คือการแก้ปัญหาหนี้สิน

ที่เป็นข่าวกำลังทำกันอยู่ ก็คือ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) หารือกับ ธ.ก.ส. ในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและลูกค้าของ ธ.ก.ส. คาดว่าภายในปลายเดือน พ.ย.นี้ จะได้ข้อสรุป

วิธีการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ จะเป็นการนำร่องแก้ปัญหาในระยะยาว ซึ่งจะต่อยอดแนวทางการแก้ไขไปยังสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น ร่วมมือกับธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ แต่ในหลายๆ วิธีการแก้ปัญหาคงต้องมาหารือกันให้ได้ข้อสรุปก่อน และจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน

ถึงแม้ว่าสิ่งที่กำลังทำทั้งการช่วยเหลือด้านการเงิน ด้านอาชีพ แก้หนี้นอกระบบ จะทำกันไม่สำเร็จแบบรวดเร็ว แต่จำเป็นต้องเริ่มต้น และหยุดการใช้จ่ายแบบเกินตัว หยุดความคิดประเภทเอาเงินอนาคตมาใช้

ผลที่ตามมามันเห็นกันอยู่แล้วในวันนี้ที่คนไทยเป็นหนี้ตัวโต

พอเพียง เพียงพอ ก่อสุขทุกสถานจริงๆ