posttoday

ห่านป่ากลับมาแล้ว

11 กันยายน 2560

ยุคแห่งความโชติช่วงชัชวาลของเศรษฐกิจของไทย เกิดขึ้นในสมัย รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จากการเมืองที่มีเสถียรภาพต่อเนื่องยาวนาน

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

ยุคแห่งความโชติช่วงชัชวาลของเศรษฐกิจของไทย เกิดขึ้นในสมัย รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จากการเมืองที่มีเสถียรภาพต่อเนื่องยาวนาน และการดำเนินนโยบายที่ถูกต้อง ในการส่งเสริมการส่งออก ส่งเสริมการลงทุน ส่งเสริมการท่องเที่ยว

สภาพดังกล่าวในขณะนั้นสอดรับกับเงื่อนไขของโลก ที่เงินเยนญี่ปุ่นถูกกดดันให้แข็งค่าอย่างรวดเร็ว ทำให้ญี่ปุ่นต้องย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ

ญี่ปุ่นจึงเป็นหัวขบวนแห่งความมั่งคั่ง ทั้งการค้า ลงทุน เม็ดเงินของญี่ปุ่นกระจายไปยังทั้งโลก ทำให้เศรษฐกิจประเทศอื่นๆ ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามไปด้วย

ทั้งหมดเป็นที่มาของทฤษฎีห่านป่า ที่หมายความว่าญี่ปุ่นเป็นจ่าฝูง ติดปีกโบยบินและมีฝูงห่านป่าคือ ประเทศต่างๆ บินตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ห่านป่าจ่าฝูง ห่างหายจากวงจรเศรษฐกิจโลกไปเนิ่นนาน กลายเป็นทศวรรษที่หายไปของญี่ปุ่น

แต่ห่านป่ากำลังจะกลับมาอีกครั้ง โดยยกพลมาเป็นฝูงขนาดใหญ่

ต้นสัปดาห์นี้จะมีคณะเดินทางของญี่ปุ่นนำโดย รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม หรือเมติ นำคณะนักลงทุนรายใหญ่เกือบ 500 ราย เดินทางมาไทย

การเดินทางมาในครั้งนี้ ในแง่ทางการ ระบุว่า เนื่องจากเป็นโอกาสครบ 130 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น แต่ที่น่าสนใจก็คือเป็นการแสดงให้เห็นถึงเป้าหมายในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับไทย

ญี่ปุ่นจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือใน 5 อุตสาหกรรม จาก 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย การช่วยเหลือพัฒนาคนที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมใหม่ และที่สำคัญคือการลงลึกถึงพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี

ในยุคสมัยแห่งการโบยบินของฝูงห่านป่าในครั้งแรก ไทยก็มี โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก หรืออีสเทิร์น ซีบอร์ด เป็นหัวขบวนการของลงทุน และก่อเกิดเม็ดเงินลงทุนมหาศาลตามมา

และในครั้งนี้ก็มีการขยายพื้นที่ของอีสเทิร์น ซีบอร์ด ให้ใหญ่กว่าเดิมและยกระดับเป็นอีอีซี เพื่อหวังการลงทุนครั้งใหญ่จากต่างชาติ ในอุตสาหกรรมใหม่ที่ยกระดับขึ้นมาจากเดิม

ฝูงห่านป่าที่กำลังบินเข้ามายังประเทศไทย จึงถือเป็นจุดสำคัญในการเปลี่ยนแปลง ถ้าฝูงห่านป่าสนใจเชื่อมโยงอีอีซีเข้ากับระบบห่วงโซ่การผลิต การลงทุนของบริษัทขนาดยักษ์ในญี่ปุ่น ต้องถือว่าอีอีซีมีโอกาสขับเคลื่อนไปได้อย่างแน่นอน

และสิ่งที่เป็นนัยสำคัญสำหรับการโบยบินมาของฝูงห่านป่าในครั้งนี้ ก็คือการทำให้พญามังกร หันมาสนใจโครงการลงทุนในอีอีซีและการเชื่อมโยงกับไทยมากยิ่งขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกยุคนี้พญามังกรคือผู้ที่มีบทบาททั้งในแง่การเมือง และเศรษฐกิจโลก หากทั้งฝูงห่านป่าและพญามังกรต่างเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต เป็นศูนย์กลางในภูมิภาค พลังขับเคลื่อนที่เกิดขึ้นย่อมเป็นทวีคูณ

จะจุดติดไม่ติด จะสำเร็จหรือไม่

การมาเยือนของห่านป่าครั้งนี้ จึงมีความสำคัญยิ่งยวด n