posttoday

‘วิชญะ เครืองาม’ คนรุ่นใหม่ปฏิรูปประเทศ

27 สิงหาคม 2560

คีย์แมนคนสำคัญในการปฏิรูปกฎหมายให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นลูกไม้ใต้ต้น วิษณุ เครืองาม

โดย...ปริญญา ชูเลขา

คีย์แมนคนสำคัญในการปฏิรูปกฎหมายให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นลูกไม้ใต้ต้น วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นั่นคือ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน “วิชญะ เครืองาม” หรือ “ดร.โอม” ซึ่งเขาเข้ามารับตำแหน่งประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และรับฟังความเห็น หนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย (ทปก.)

ภารกิจในตำแหน่งดังกล่าว คือ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านเสนอแนะกฎหมาย คอยติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลกระทบจากการตรากฎหมายสำคัญๆ ให้กับรัฐบาลได้นำไปผลักดัน แก้ไข ปรับปรุง หรือยกเลิก พร้อมกับติดตามความคืบหน้าการตรากฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐทุกแห่ง

“การปรับปรุงกฎหมาย เน้นทำเรื่องปากท้อง การทำมาหากิน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตได้สะดวก โดยเฉพาะการติดต่อธุรกิจกับหน่วยงานราชการ ต้องไม่ล่าช้า หรือซ้ำซ้อน พร้อมกับเน้นการออกกฎหมายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูป อีกภารกิจที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ งานประชาสัมพันธ์และรับฟังความเห็นตามมาตรา 77 จะเปิดกว้างให้ประชาชนได้เสนอเต็มที่ อยากจะได้กฎหมายอะไร อยากจะให้ยกเว้น หรือยกเลิกกฎหมายอะไร ขอให้เสนอ ทปก.มาได้” วิชญะ ระบุ

ทั้งนี้ ดร.โอม บอกว่า การมีกระบวนการและการวางแผนที่ดี เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปกฎหมาย ดังนั้นจึงแบ่งการทำงานออกเป็น 4 คณะอนุกรรมการ ดังนี้ 1.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจของประชาชน 2.สุรชัย ภู่ประเสริฐ ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย ที่สร้างภาระแก่ประชาชนเกินความจำเป็น 3.คำนูณ สิทธิสมาน ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามกฎหมายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และ 4.บรรเจิด สิงคะเนติ ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาเสนอกฎหมายที่ต้องจัดทำใหม่ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ  

การทำงานทั้ง 4 คณะนั้น มีความก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะชุดคุณกอบศักดิ์ กำลังศึกษาและฟอร์มทีมทำงาน ภายใน 2 เดือนนี้จะมีข้อสรุปว่ากฎหมายไหนจำเป็นที่จะต้องปรับปรุง สร้างใหม่หรือยกเลิก เช่น กฎหมายการจัดตั้งบริษัท ห้าง ร้าน ต้องลดขั้นตอนให้สั้นและง่ายลง หรือกฎหมายการกู้ยืมเงิน หรือการไปทำธุรกรรม ซื้อที่ดิน การจดทะเบียนจดจำนองที่ดิน ที่ปัจจุบันระบบล่าช้ามาก เพราะการทำให้กระบวนการทางราชการกระชับสำคัญมากในการทำธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) กฎหมายไหนเป็นอุปสรรคต้องยกเลิกเพื่อให้การประกอบอาชีพของประชาชนดีขึ้น 

สำหรับ ภารกิจ ทปก.ในการเปิดรับฟังความเห็น เป็นหนึ่งงานตามมาตรา 77 ทุกหน่วยงานของรัฐจะต้องมีการประเมินผลกระทบจากการตรากฎหมาย หรือ Regulatory Impact Assessment ที่เรียกกันว่า กระบวนการ อาร์ไอเอ เพราะการออกกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าทุกขั้นตอนต้องมีการประเมินผลกระทบก่อนจะนำเสนอกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย ทปก.จะดูว่าหน่วยงานใดทำหรือไม่ เพราะการประเมินผลกระทบผลดีหรือผลเสียมีความจำเป็นมาก

ดังนั้น จากนี้ไปจะมีผลงานด้านกฎหมายสำคัญๆ ทยอยออกมาเรื่อยๆ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.มาตรการติดตามทรัพย์สินของรัฐคืนจากการเอาไปโดยมิชอบ พ.ศ. ... โดยเฉพาะคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการทุจริตโดยเฉพาะทรัพย์สินที่เป็นมรดกตกทอดต้องเรียกคืนกลับคืนสู่ภาครัฐ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. ... โดยในอนาคตจะมีการจัดตั้งกองทุนและมาตรการสร้างแรงจูงใจทางภาษีออกมามากมาย ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. … และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ...

ล่าสุดเตรียมยกร่างกฎหมายเพื่อให้สามารถนำเงินที่ค้างท่อมาใช้ประโยชน์ ที่มีอยู่จำนวนนับพันล้านบาท อาทิ เงินที่อยู่ในบัญชีธนาคาร เงินค่าเติมซิมการ์ด เงินกรมธรรม์ หรือเงินในบัตรเติมเงินแบบ Pre paid ในต่างประเทศจะมีกฎหมายออกมาให้สามารถนำเงินเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์สาธารณะได้ แต่ต้องเป็นเงินที่ไม่มีเจ้าของจริงๆ

“การปฏิรูปคราวนี้ ถ้าไม่ออกกฎหมายที่เห็นผลเป็นรูปธรรมที่สัมผัสได้ จะขาดแนวร่วมจากประชาชน ทปก.คิดเสมอว่า จะทำอย่างไรให้การปฏิรูปแล้วต้องสัมผัสได้จริงๆ คือ Reform in action ไม่ใช่ Reform in paper ไม่มีอีกแล้วปฏิรูปที่เป็นรายงานแล้วไปอยู่บนหน้ากระดาษหรือแค่รายงานนำเสนอ ดังนั้น คณะ ทปก.จึงมีความตั้งใจทั้งออกแรงผลักดันขับเคลื่อน จะต้องผลักดันกฎหมายที่ดีไปสู่ท่อ ครม.หรือสนช.ให้รวดเร็วโดยเน้นความรัดกุมและรอบคอบเป็นที่สุด” 

อย่างไรก็ตาม ผลงานชิ้นโบแดงล่าสุดของ ทปก. คือ ร่างกฎหมายที่ว่าด้วยการขัดกันของผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม หรือกฎหมายสี่ชั่วโคตร เพราะทปก.ผลักดันเต็มที่ ผ่านการเปิดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง และไม่ลังเลว่าหน่วยงานใดจะต้องรับผิดชอบหลัก แต่เห็นว่าเป็นกฎหมายที่ควรขับเคลื่อนและปรับปรุง จึงทำรายงานเสนอท่านนายกรัฐมนตรี จากนั้นก็เอาเข้า ครม.ดันต่อไป ก่อนเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพราะ ทปก.เห็นด้วยกับหลักการ ดังนั้นวันนี้รัฐบาลจึงอนุมัติเพื่อส่งเข้า สนช.ได้ในที่สุด

“กฎหมายนี้หากเป็นในอดีต รับรองล่าช้ามาก เพราะเรื่องนี้มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ อาทิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ ทปก.รับเป็นเจ้าภาพ ได้เรียกทุกหน่วยงานมาคุยกันเลย เพื่อมารับฟังความคิดเห็น จากนั้น ทปก.ก็ได้ออกมาเป็นข้อสรุปเสนอแนะรัฐบาล”

ดร.โอม บอกอีกว่า เรื่องล่าสุดได้เสนอให้รัฐบาลตั้งกองทุนปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นร่างกฎหมายที่ดี เพราะได้สนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริต และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้เรื่องปราบโกง โดย ทปก.มีความเห็นด้วยในหลักการ ส่วนเรื่องที่มาของเงินจะได้รับการสนับสนุนจากไหน และหน่วยงานใดจะเป็นคนกลางในการตรวจสอบ ค่อยไปว่ากันในสภา แต่หลักการ คือ ต่อต้านการทุจริต ผ่านการสนับสนุนภาคีเครือต่อต้านการคอร์รัปชัน ที่จะได้รับงบสนับสนุนการทำงาน กองทุนนี้เป็นเหมือน “นกหวีด” คอยเป่าเสียงดังๆ หากพบนักการเมือง หรือข้าราชการที่จะทำการทุจริต ก็จะไม่ให้กล้าทำเรื่องโกงกิน ดังนั้นวันนี้ต้องก้าวข้ามการทำงานและบูรณาการทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ปราบปรามการทุจริต

“สิ่งสำคัญในการทำกฎหมาย คือ การเปิดรับฟังความเห็นทำทุกช่องทาง ตั้งแต่รับจดหมาย หรือทางออนไลน์เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ใครมีความเห็นอะไรส่งเข้ามาได้ ผมนั่งอ่านทุกความเห็น เพื่อนำเสนอต่อคณะใหญ่ ใครมีความอัดอั้นตันใจอะไร เสนอมาได้ เช่น เมื่อท่านไปติดต่อหน่วยงานราชการแล้ว พบปัญหาอุปสรรคอย่างไร เช่น เวลานาน งานซ้ำซ้อน เราจะเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมาย”  

ทั้งนี้ การปฏิรูปกฎหมายในยุครัฐบาลชุดนี้กับรัฐบาลเลือกตั้ง ถ้าจะถามว่าใครทำได้ดีกว่ากันคงตอบยาก แต่หากจะเปรียบเทียบกันจากปริมาณหรือจำนวนรัฐบาลชุดนี้ออกกฎหมายได้จำนวนมากกว่า เพราะรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งไม่ได้ออกกฎหมายได้มากเท่านี้ ยิ่งในช่วงวิกฤตการเมือง จะออกกฎหมายได้ยาก และฝ่ายค้าน นักการเมือง ไม่ออกกฎหมายที่จำกัดสิทธิหรือตรวจสอบการทุจริตนักการเมือง แต่รัฐบาลชุดนี้มีอำนาจเด็ดขาด กฎหมายที่ออกมาจึงมีคุณภาพ เช่น กฎหมายสี่ชั่วโคตร ที่ผ่านมารัฐบาลเลือกตั้งออกไม่ได้สักที เพราะนักการเมือง หรือผู้บริหารระดับสูงจะถูกโยงเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงดึงเรื่องไว้ไม่ให้ออกกฎหมาย แต่นี่คือความตั้งใจจริงและแสดงถึงคุณภาพ

แม้ออกการกฎหมายย่อมมีข้อขัดแย้งบ้าง แต่สิ่งสำคัญ คือ ทปก.ต้องกล้าตัดสินใจไม่ใช่ทุบโต๊ะ เพราะมีหน้าที่ทำความเห็นเสนอรัฐบาล ถ้าเรื่องใดเป็นเรื่องเกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน หรืองานบางอย่างไม่สามารถบูรณาการกันได้ หรือบางข้อขัดแย้งเมื่อจะออกกฎหมายแล้วต้องไปสร้างองค์กรใหม่ แล้วองค์กรเดิมจะทำอย่างไร หรือกฎหมายบางฉบับไปแตะหลายหน่วยงาน ย่อมทำให้หลายหน่วยงานไม่พอใจ แต่ ทปก.ต้องตัดสินใจ ว่าจะเลือกแนวทางใด หากมีหลายแนวทางที่ต้องดำเนินการ จากนั้นทำความเห็นสนับสนุนเสนอรัฐบาล ขณะเดียวกันรัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำที่เข้มแข็ง จะทุบโต๊ะได้ง่ายกว่า เพราะรัฐบาลมาด้วยอำนาจพิเศษของตัวเอง และมีมาตรา 44 การตัดสินใจย่อมทำได้ดี

“ผมเชื่อว่าการปฏิรูปจะสำเร็จได้ ต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน การปฏิรูปไม่ใช่จะพลิกหน้ามือเป็นหลังมือได้ภายในวันเดียว แต่เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างและวิธีคิดของคน นี่คือการปฏิรูปที่แท้จริง” ดร.โอม กล่าวอย่างมั่นใจ