posttoday

ปรับตัวให้ไว

04 สิงหาคม 2560

มาคุยกันต่อเรื่องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาตัดสินยกฟ้องคดีสลายการชุมนุมม็อบพันธมิตร

โดย...สันทัด กรณี

มาคุยกันต่อเรื่องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาตัดสินยกฟ้องคดีสลายการชุมนุมม็อบพันธมิตร จากเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค. 2551

ครับ...คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังต้องลุ้นต่อไปอีกเดือนว่า ป.ป.ช.จะมีการใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาหรือไม่

ตรงนั้นพักไว้ก่อน แต่อยากตั้งข้อสังเกตเล็กน้อยเกี่ยวการพิพากษาตัดสินในคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง หรือแม้แต่ชุมนุมอื่นๆ

ดูๆ แล้วคดีส่วนใหญ่พบว่า หากมีการชุมนุมในลักษณะฝ่าฝืนกฎหมาย ส่วนใหญ่บรรดาแกนนำมักไม่รอดจากการลงโทษตามกฎหมาย ไม่ว่าจะมีรสนิยมทางการเมืองในปีกไหน

ยกตัวอย่าง....คดีแกนนำ นปช. อาทิ คุณอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง คุณนิสิต สินธุไพร คุณพายัพ ปั้นเกตุ คุณวรชัย เหมะ นายวันชนะ เกิดดี...เป็นต้น นำมวลชนบุกถล่มการประชุมสถานที่การประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2552 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษา จำคุกแกนนำคนละ 4 ปี ไม่รอลงอาญา

คดีแกนนำพันธมิตรฯ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง คุณสนธิ ลิ้มทองกุล คุณพิภพ ธงไชย คุณสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และคุณสุริยะใส กตะศิลา นำมวลชนบุกทำเนียบรัฐบาลเมื่อปี 2551 ศาลชั้นต้นพิพากษา จำคุกคนละ 2 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำคุกคนละ 8 เดือน ไม่รอลงอาญา

ในส่วนของรัฐ ซึ่งเปิดปฏิบัติการสลายม็อบ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน ปรากฏว่ารัฐบาลสามารถรอดจากการถูกดำเนินคดีแม้การปฏิบัติการนั้นจะมีมวลชนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ยกตัวอย่าง...ที่ผ่านไปหมาดๆ คือ คดีการสลายการชุมนุมม็อบพันธมิตร 7 ต.ค. 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้องจำเลยคือ คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นและพวก

คดีสลายการชุมนุมม็อบ นปช.หรือม็อบเสื้อแดง ในปี 2553 ศาลอาญายกฟ้องจำเลย ซึ่งก็คือ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในช่วงเกิดเหตุการณ์

ครับ...จากที่ผมลองยกมาให้เห็นเป็นประเด็นให้น่าขบคิดถึงแนวทางการจัดการกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการชุมนุมของประชาชนในเรื่องอื่นในอนาคตได้ค่อนข้างชัด

ชัด...จนมองได้ว่าประเทศไทยเรานั้น มีทิศทางในการจัดระเบียบใหม่ของประเทศอย่างเข้มงวดกับการเคลื่อนไหวของมวลชนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหากมีการละเมิดต่อกฎหมาย

ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่ตอกย้ำอีกดอกคือในช่วงรัฐบาลปัจจุบัน ได้มีการออก พ.ร.บ.การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ มาบังคับใช้ สาระคือก่อนการชุมนุมสาธารณะทุกครั้งผู้จัดต้องแจ้งให้ตำรวจในท้องที่ทราบ (แปลภาษาไทยว่าต้องขออนุญาต) ล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง มีการกำหนดพื้นที่สำคัญห้ามชุมนุมอย่างเด็ดขาด เป็นต้น

เฮ้อ!...ขอให้ปรับตัวกันไวๆ บ้านเราไม่เหมือนก่อนแล้วครับ