posttoday

ไลค์จริง-ไลค์ปลอม

14 มิถุนายน 2560

เป็นเรื่องที่วงการออนไลน์ต้องคิดให้หนัก ถึงธุรกิจที่ทำกันบนโซเชียลมีเดีย

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

เป็นเรื่องที่วงการออนไลน์ต้องคิดให้หนัก ถึงธุรกิจที่ทำกันบนโซเชียลมีเดีย เนื่องจากยอดไลค์ ยอดผู้ติดตาม คือมูลค่าทางธุรกิจที่เกิดขึ้น

อดไลค์ ยอดเข้าชม อาจเป็นของปลอมก็ได้

ที่ผ่านมามีธุรกิจที่ทำเป็นล่ำเป็นสัน นั่นคือการปั๊มยอดไลค์ จ่ายเงินกันเป็นกิจจะลักษณะ

แต่ทว่าเทคโนโลยีการสร้างยอดไลค์ได้พัฒนามากขึ้น จนถึงกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อมก็ว่าได้

รูปแบบที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสันก็คือ คลิกฟาร์ม

ในเมืองไทยเองล่าสุดก็มีคดีที่ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ตรวจค้นบ้านในหมู่บ้านโก้เก๋ ต.บ้านใหม่หนองไทร อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว พบชายชาวจีน 3 คน โดยมีภรรยาชาวไทย เป็นเจ้าของบ้าน

ภายในบ้านหลังนั้นมีโทรศัพท์มือถือรวมกันแล้ว 474 เครื่อง ถูกเอาไปวางบนชั้นวางโทรศัพท์มือถือเรียงเป็นแถว ชั้นวางละประมาณ 150-160 เครื่อง เครื่องอ่านซิมการ์ด 21 เครื่อง คอมพิวเตอร์พกพา 4 เครื่อง คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 5 เครื่อง ซิมการ์ดมือถือ  รวมกันแล้วกว่า 3.4 แสนชิ้น

ผู้ต้องหาให้การว่าเข้ามาทำงานเกี่ยวกับการปั๊มไลค์ และเพิ่มยอดวิวให้แก่สินค้าที่ขายทางเว็บไซต์ โดยมุ่งเป้าไปยังประเทศจีน

ส่วนเหตุที่มาทำงานในไทย เพราะค่าบริการอินเทอร์เน็ตในไทยถูกกว่า

ตำรวจแจ้งข้อหาลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าหนีภาษีหรืออินเทอร์เน็ตผิดกฎหมายกับบุคคลเหล่านี้

แม้จะมีการกล่าวอ้างว่าทำเพิ่มยอดไลค์ในจีน แต่ทว่าก็น่าสงสัยเช่นกัน จะมีคลิกฟาร์มที่สร้างยอดไลค์ในไทยในรายอื่นหรือไม่ โดยใช้เทคโนโลยีและรูปแบบเดียวกัน

เพราะธุรกิจปั๊มไลค์ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำอย่างมาก โดยอาศัยเพียงคอมพิวเตอร์ที่มีโปรแกรมสร้างยอดไลค์ และใช้เครือข่ายการสื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือในการดำเนินการ

ยอดไลค์ ยอดผู้ติดตามจำนวนมาก จึงอาจเป็นของปลอมได้เช่นกัน เพื่อหวังผลทางธุรกิจจากสินค้าต่างๆ ที่จะมาลงโฆษณา

ไม่เพียงแต่ในวงการธุรกิจเท่านั้น แต่แวดวงการเมืองก็มีการใช้ยอดไลค์สร้างกระแสนิยมเช่นกัน

อย่างนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของกัมพูชา ที่ยอมรับว่าเป็นคนโลว์เทค และใช้งานสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กไม่นาน หลังฝ่ายตรงข้ามใช้พื้นที่สื่อสังคมออนไลน์เข้าถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งหนุ่มสาว

นายกรัฐมนตรีฮุนเซน จึงหันมาใช้สื่อออนไลน์ หวังจะดึงคะแนนนิยมคนรุ่นใหม่ที่ลงคะแนนเสียงให้ฝ่ายค้านในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ปรากฏว่าในเวลาไม่นานนัก ยอดไลค์ในเฟซบุ๊กของนายกฯ ฮุนเซน เพิ่มพรวดทะลุหลายล้านไลค์

แต่ยอดกดไลค์ที่เป็นบัญชีผู้ใช้งานจากในประเทศเกินครึ่งเล็กน้อย ที่เหลือมาจากอินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่เป็นแหล่งปั๊มไลค์

ทั้งหมดเลยทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ยอดไลค์ที่ได้มาจากการชอบเลยกดไลค์ หรือกดเพราะปัจจัยอื่น

ของปลอมจึงเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา แม้โลกดิจิทัลที่ว่าแน่ก็เถอะ