posttoday

ไกลเกินฝัน

09 มิถุนายน 2560

น่าทึ่งกับผลงานทางวิชาการของนักศึกษา นบส.2 รุ่นที่ 9 สำนักงาน ก.พ. ที่ชำแหละบุคลิก หรือคาแรกเตอร์ของเด็กยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้แจ่มชัดมาก

โดย...นาย ป.

น่าทึ่งกับผลงานทางวิชาการของนักศึกษา นบส.2 รุ่นที่ 9 สำนักงาน ก.พ. ที่ชำแหละบุคลิก หรือคาแรกเตอร์ของเด็กยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้แจ่มชัดมาก

เพราะความสำเร็จอยู่ที่ระบบการศึกษาและการอบรมเลี้ยงดู เริ่มที่การกำหนดให้หลักสูตรการศึกษาและวิธีการจัดการเรียนการสอนเป็นแบบเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการและการประเมินผล ส่งผลให้ระบบการศึกษาไทยไม่ส่งเสริมให้มนุษย์ได้รับการพัฒนาตามบุคลิกลักษณะและความสามารถอันแตกต่างของผู้เรียนเป็นสำคัญ

ระบบการพัฒนาคนดังกล่าว จึงทำให้ผลผลิตส่วนใหญ่ของระบบการศึกษาเป็น “พิมพ์นิยม” คือ มีความสามารถเพียงพอที่จะเป็นลูกจ้างทั่วๆ ไป แต่ขาดทักษะที่จะผลักดันตนเองให้เป็นลูกจ้างซึ่งมีทักษะเฉพาะด้านสูง

หรือออกไปเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ อันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างสังคมผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง เพื่อทำให้โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจมีความเข้มแข็งจากภายใน ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจโลก

แม้ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาจะมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนไปเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่ยากที่จะผลักดันให้เกิดความสำเร็จได้ เพราะระบบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
ไม่รองรับกัน

การกระตุ้นให้เกิดผู้ประกอบการโดยมุ่งให้ความสนับสนุนทางการเงินเป็นสำคัญ จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและมีความเสี่ยงที่จะทำให้ได้ผลตอบแทนคืนกลับไม่คุ้มค่า และก่อหนี้จำนวนมากด้วยซ้ำ อันเป็นผลที่ไม่พึงประสงค์

แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แบบดั้งเดิมนี้ จึงไม่สอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0

อีกเรื่องสำคัญที่ถูกละเลยมานานคือ ระบบการศึกษาไทยไม่ให้ความสำคัญแก่ “การพัฒนาเด็กเล็ก” ในช่วง 0-2 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์ สาเหตุแห่งการละเลยปัญหานี้อาจสืบเนื่องมาจากการไม่ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของ “สถาบันครอบครัว”

อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งเปลี่ยนรูปแบบครอบครัวขยายของสังคมเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นครอบครัวเดี่ยวในเวลาอันรวดเร็ว เพราะข้อดีของครอบครัวขยายคือการมีปู่ย่าตายายลุงป้าน้าอาเป็นผู้ดูแลและอบรมสั่งสอนหลานในระหว่างที่พ่อแม่ของเด็กออกไปทำงาน โครงสร้างดังกล่าวทำให้เด็กเล็กได้รับการดูแลอย่างอบอุ่นและใกล้ชิด มีการปลูกฝังความเป็นระเบียบวินัย ความสามารถในการดูแลตนเอง

เด็กในยุคนี้ล้วนเป็นครอบครัวเดี่ยวส่วนใหญ่จึงขาดระเบียบวินัย ขาดความสามารถในการดูแลตนเอง และขาดความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และก่อให้เกิดปัญหาสังคมอย่างอื่นตามมา โดยเฉพาะการกระทำความผิดที่มีโทษอาญาและการใช้ความรุนแรงในสังคม

การมุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเป็น 4.0 ต้องไปพร้อมๆ กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แต่การพัฒนาคนต้องใช้เวลา ไม่มีทางลัด

การวางแผนการพัฒนาอย่างเป็นระบบและการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม จึงเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุดต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็น 4.0 สำหรับไทยคงไกลเกินฝัน