posttoday

ไผเป็นไผ!

30 มีนาคม 2560

มาว่ากันต่อเรื่อง บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ อภิมหาองค์กรทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมของชาติมูลค่าปีละ 5 แสนล้านบาท

โดย...สันทัด กรณี

มาว่ากันต่อเรื่อง บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ อภิมหาองค์กรทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมของชาติมูลค่าปีละ 5 แสนล้านบาท ไฉนมาเป็นเนื้องอก มาจุติในร่างกฎหมายปิโตรเลียม

บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นติ่งที่งอกมาในบทเฉพาะกาลมาตรา 10/1 ด้วยข้อความสั้นๆ ระบุเนื้อหา ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เมื่อมีความพร้อมและให้พิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการจัดตั้ง

ครับ...กลายเป็นประเด็นเดือดในตอนนี้ เพราะผูกพันเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล แต่มีรายละเอียดกระจึ๋งนึง ไม่บอกอะไร

คนออกมาซดกันบนเวทีตอนนี้มีกันอยู่ 4 กลุ่ม

กลุ่มแรก กลุ่มคณะกรรมาธิการพลังงาน สนช. ที่อุดมด้วยนายทหารใหญ่ นายทหารกลุ่มนี้แหละครับที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ออกมาหวดเอา เพราะเป็นกำลังในการจุติบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ใส่ในร่างกฎหมาย

กลุ่มที่สอง กลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดยขาเก่าเจ้าประจำ อาทิ คุณรสนา โตสิตระกูล ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กลุ่มนี้เคลื่อนไหวจริงจังต่อเนื่องกดดันมาตลอดบีบรัฐบาลต้องตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ แต่ไม่เอาร่างกฎหมายที่กำลังพิจารณาวาระ 2 เพราะต้องการ “ให้ตั้งโดยทันที” ไม่ใช่ “ตั้งเมื่อพร้อม”

ภาษาชาวบ้านคือ การบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม ทรัพย์สินกิจการทั้งหมดต้องกลับมาอยู่ในมือองค์กรที่รัฐจัดตั้งขึ้นใหม่ เอาเด๋วนี้ เอาทันทีเพื่อไปจัดการก่อนเปิดสัมปทานก๊าซครั้งใหม่

กลุ่มที่สาม กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน เป็นกลุ่มแนวคิดยึดมั่นระบบกลไกตลาดแบบทุนนิยมเสรี แนวคิดแตกต่างจาก คปพ. ชนิดตรงข้าม เป็นการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญคลุกคลีด้านพลังงานที่มีแนวคิด อาทิ คุณปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ คุณมนูญ ศิริวรรณ ซึ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ดูจะยืนอยู่ข้างนี้ กลุ่มนี้ไม่เอาไม่เห็นด้วยกับการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ไม่เห็นด้วยกับการให้กำเนิดองค์กรที่ผูกขาดทรัพยากรปิโตรเลียมแทนรัฐ แบบว่าไว้ใจกันลำบากถ้าพลาดไปพินาศเห็นๆ

กลุ่มที่สี่ รัฐบาลของท่านนายกฯ ลุงตู่ ตอนนี้นั่งบนภูดูชาวบ้านตีกันและมีสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มแรก โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า คำว่า “จัดตั้งเมื่อพร้อม” เป็นสัญญาณที่ส่งไปจากตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อซื้อเวลา
ไปว่ากันใหม่ในวาระ 2-3 ของ สนช.

ก็อย่างที่ท่านนายกฯ ลุงตู่ บอกว่า ย้ำมาตลอดไม่พร้อมๆ ยังไม่จำเป็น แต่ คปพ.กดดัน สนช.ซ้ำขู่รัฐบาลจะล้อมทำเนียบล้อมรัฐสภา ถ้าร่างกฎหมายไม่มีเรื่องตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

“แบบนี้ผมถามว่าถูกต้องหรือไม่ เมื่อเสนออะไรผมก็รับมา และก็นำข้อเสนอไปให้ สนช.พิจารณา ถ้าเขาพิจารณาแล้วไม่เหมาะสมก็ต้องรับกติกา ใช้วิธีกดดันแบบนี้ประเทศชาติเสียหาย เสียประโยชน์ และกลุ่มนี้ก็ยึดโยงไปสู่โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ด้วย คือทุกที่ในเรื่องพลังงาน ผมก็ไม่เข้าใจ”

ครับ...ถึงตรงนี้สางกันทีละเส้น คงเริ่มเห็นกันลางๆ ไผเป็นไผ ใครชนกับใคร ใครกันอยากได้ บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ...เพื่อ?