posttoday

สัญญาประชาคม แผนมัดมือปรองดอง

22 มีนาคม 2560

การเมืองไทยว่าด้วยเรื่องการสร้างความปรองดองเวลานี้มี 2 ความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การเมืองไทยว่าด้วยเรื่องการสร้างความปรองดองเวลานี้มี 2 ความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

1.เป็นความเคลื่อนไหวของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท.ที่มี “เสรี สุวรรณภานนท์” เป็นประธาน ซึ่งอยู่ในระหว่างการจัดทำข้อเสนอส่งให้กับคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ต่อไป

ข้อเสนอสำคัญของคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ คือ การอำนวยความสะดวกเพื่อการปรองดองด้วยการให้อภัยและการใช้กระบวนการทางกฎหมายแก้ปัญหาคดีความ ซึ่งจะเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการกลางเป็น
เจ้าภาพแก้ปัญหาความขัดแย้ง

แบ่งเป็น คดีอาญาจะจำแนกประเภทคดี ที่มีมูลเหตุจากแรงจูงใจทางการเมือง จะจำหน่ายคดีชั่วคราวหรือการพักโทษ รวมถึงให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่ไม่รวมคดีมาตรา 112 และคดีทุจริต ส่วนคดีแพ่งจะให้รัฐจัดงบเยียวยา ส่วนที่เอกชนและรัฐฟ้องกลุ่มผู้ชุมนุม จะเสนอให้มีการเจรจาเพื่อประนีประนอม

ที่สำคัญจะให้อัยการใช้อำนาจตามมาตรา 21 พ.ร.บ.องค์กรอัยการ และพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดให้ในกรณีที่หากอัยการเห็นว่าการฟ้องคดีอาญาไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนหรือมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติหรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ให้เสนอต่ออัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องได้ ซึ่งจะรวมไปถึงคดีที่ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของศาล และคดีที่อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ ฎีกา

2.คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง เสนอไอเดียเรื่องการทำสัญญาประชาคมเพื่อสร้างความปรองดอง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจพอสมควร

แนวความคิดดังกล่าวเป็นผลผลิตมาจากเชิญพรรคการเมืองมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองในชุดคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ระบุว่า “ทุกพรรคเห็นว่าให้ใช้กระบวนการยุติธรรมในการแก้ไขปัญหา ซึ่งทุกพรรคการเมืองควรมีข้อตกลงร่วมกันเหมือนสัญญาประชาคมว่าผลการเลือกตั้งที่ออกมาทุกฝ่ายต้องยอมรับ และทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์”

โดยมีการคาดว่าภายในเดือน เม.ย. ประเทศไทยจะได้เห็นเนื้อหาในสัญญาประชาคมเพื่อสร้างความปรองดอง

จะว่าไปเรื่องสัญญาประชาคมเคยมีการโยนหินถามทางมาแล้วรอบหนึ่ง เมื่อครั้งมีการเสนอให้ทำบันทึกความเข้าใจ หรือเอ็มโอยู เพื่อทำหลักฐานเป็นหนังสือให้คู่ขัดแย้งมาลงนามร่วมกันเพื่อสร้างสันติภาพ

แนวความคิดดังกล่าวได้รับการยอมรับในตอนแรก ส่วนหนึ่งเพราะเห็นว่าน่าจะสร้างรูปธรรมให้เกิดขึ้นได้ แต่ผ่านไปสักระยะกลับไม่ได้รับการยอมรับเท่าไหร่นัก เนื่องจากบางฝ่ายไม่ต้องการให้ทหารที่มีฐานะเป็นหนึ่งในคู่ขัดแย้งเข้ามาเป็นเจ้าภาพในการสร้างความปรองดอง

ทว่าจากวันนั้นจนถึงวันนี้สถานการณ์และบรรยากาศเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะข้อเสนอสัญญาประชาคมเป็นผลผลิตจากการเชิญพรรคการเมืองมาแสดงความคิดเห็น อันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าพรรคการเมืองในฐานะที่ต้องเข้าสู่อำนาจในอนาคตได้ให้การยอมรับในระดับหนึ่ง

ยิ่งไปกว่านั้น สถานะของฝ่ายการเมืองก็ไม่ได้เป็นฝ่ายที่มีอำนาจจะต่อรองกับทหารได้มากเท่าไหร่ โดยมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง

เช่น คดีที่อยู่ในการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรมก็กำลังใกล้เสร็จสิ้น หรือการเร่งทำคดีขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างกรณีของการเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น ไม่เว้นแม้แต่กติกาการเมืองที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ก็บีบให้พรรคการเมืองห้ามแตกแถว เป็นต้น

ด้วยปัจจัยเหล่านี้เอง จึงทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือไพ่เหนือกว่าฝ่ายการเมืองอย่างเห็นได้ชัด เหลือเพียงรอจังหวะและเวลาเท่านั้น

เวลานี้ยังไม่มีใครรู้ว่าหน้าตาของสัญญาประชาคมจะเป็นอย่างไร แต่สำหรับในเชิงวิชาการแล้ว “สัญญาประชาคม” เป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยการทำสัญญาที่แต่ละบุคคลกระทำร่วมกันเมื่อมอบสิทธิตามธรรมชาติ ที่แต่ละบุคคลมีอยู่ให้กับบุคคลที่สาม โดยเจตจำนงหนึ่งเดียวของบุคคลที่สามนี้จะเข้ามาแทนที่เจตจำนงของคนทั้งหมดและเป็นตัวแทนของคนทั้งหมด (อ้างอิงจากสถาบันพระปกเกล้า)

หากเอาทฤษฎีมาจับและมาวิเคราะห์ในเชิงปฏิบัติ ย่อมมีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่รูปแบบของสัญญาประชาคมอาจออกมาในลักษณะที่พรรคการเมืองอาจยอมมอบสละอำนาจตัวเองเพื่อให้บุคคลที่สามเข้ามาทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี หรือเรียกง่ายๆ ว่า “นายกฯ คนนอก”

พรรคการเมืองเองก็ทราบดีว่าหากให้ผู้นำพรรคของตัวเองขึ้นมาเป็นนายกฯ ในสถานการณ์แบบนี้ อาจทำให้ความขัดแย้งและการปฏิรูปประเทศขับเคลื่อนไปได้ลำบาก ทางที่ดีควรยินยอมพร้อมใจเพื่อให้คนนอกหรือคนกลางมาคุมบังเหียนรัฐบาลโดยมีพรรคการเมืองทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรี

ดังนั้น บางทีการทำสัญญาประชาคมที่ประกาศออกตัวกันมาเวลานี้ อาจเป็นใบเบิกทางสำหรับนายกฯ คนในอนาคตอันใกล้นี้