posttoday

‘นิรโทษกรรม’ หมากสองชั้น สู่ปรองดองและนายกฯ คนนอก

20 มีนาคม 2560

สัญญาณชัดเจนจน สาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องรีบออกมาดักคอว่าไม่เห็นด้วยกับนำเรื่อง “นิรโทษกรรม”

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สัญญาณชัดเจนจน สาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องรีบออกมาดักคอว่าไม่เห็นด้วยกับนำเรื่อง “นิรโทษกรรม” มาต่อรองกับพรรคการเมืองเพื่อให้สนับสนุนผลักดัน “นายกรัฐมนตรีคนนอก” ตามกระบวนการหลังการเลือกตั้ง

ด้วยความเป็นห่วงกลัวว่าแนวทางนี้นอกจากจะไม่ใช่ “ทางออก” แล้วยังจะนำไปสู่ความขัดแย้งและรอยร้าวให้ประเทศครั้งใหม่ ไม่ใช่การปรองดองตามที่คนในประเทศต้องการ

เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองทยอยเข้าให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อเวทีปรองดอง คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในชุดคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง​ที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

แม้เสียงสะท้อนและข้อเสนอแนะที่ออกมาส่วนใหญ่ออกมาในทิศทางเดียวกันคือ ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง แต่ข้อเสนอนี้ก็ยังถูกพูดถึงอยู่เสมอ รวมทั้งยังเห็นความเคลื่อนไหวผลักดันแนวคิดนี้ไปสู่การปฏิบัติจากหลายฝ่าย

ต้องยอมรับว่าเรื่อง​ “นิรโทษกรรม” ถือเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและสุ่มเสี่ยงจะบานปลายกลายเป็นความขัดแย้ง ทำให้ถูกแช่แข็งไม่มีการเดินหน้านำไปสู่การปฏิบัติ มีเพียงแค่การจัดทำรายงานข้อเสนอแนะและแนวทางปฏิบัติตามขั้นตอน

จนล่าสุด ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. ขับเคลื่อนเรื่องปรองดองและปฏิรูปให้เป็นรูปธรรมในช่วงโค้งสุดท้าย

ปมใหญ่อยู่ที่การ​ “นิรโทษกรรม” ซึ่งเป็นที่จับตาว่าจะออกมารูปแบบใด

จิ๊กซอว์ตัวสำคัญอยู่ที่ฝั่ง เสรี สุวรรณภานนท์​ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)​ หนึ่งในแม่น้ำ 5 สาย ที่ออกมาหยั่งกระแสสังคมด้วยการพูดถึงการตั้ง “คณะกรรมการกลาง” และ ​“แนวทางลดหย่อนโทษคดีทางการเมืองเพื่อสร้างความปรองดอง”​

​ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นกระบวนการปูทางไปสู่กระบวนการนิรโทษกรรม​

โดยเฉพาะพลพรรคจาก “ประชาธิปัตย์” นำทีมโดย วัชระ เพชรทอง ​ที่เปิดหน้าออกมาถล่มว่าข้อเสนอทั้งการลดหย่อนโทษ การรอลงอาญา การถอนฟ้อง การจำหน่ายคดีชั่วคราวแลกกับการไม่ไปปลุกม็อบสร้างความวุ่นวาย ไม่แตกต่างอะไรกับการนิรโทษกรรมเพียงแต่ตั้งชื่อฟังดูดีกว่ากันนิดหน่อย

“จึงสรุปได้ว่า สปท.เขียนรายงานหรือเขียนกฎหมายตามใบสั่งของผู้มีอำนาจ ขาดการยึดโยงจากประชาชน อ้างว่ามาจากประชาชนแต่ไม่เคยได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้เข้าไปทำหน้าที่จึงเป็นที่น่าเห็นใจ แต่มาเขียนกฎหมายพลิกแพลงตามใบสั่งแบบนี้ใช้ได้หรือไม่ต้องถามประชาชน”

ร้อนจน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ​ รองนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาเบรกกระแส ตัดตอนว่าเสรีไม่ใช่คณะกรรมการด้านปรองดองและขอให้เสรีหยุดพูด

“ทำอย่างนี้ได้อย่างไร กระบวนการกำลังเดินหน้า ถ้าอยากจะเสนอความคิดเห็นก็ให้มาพูดในคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองไม่ใช่ไปพูดออกสื่อ อยากเสนออะไรให้มาเสนอกับผม บอกแล้วไม่มีการนิรโทษกรรม”

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความพยายามผลักดันการนิรโทษกรรม ซึ่งกำลังดำเนินไปอย่างเงียบๆ

น่าสนใจตรงที่เรื่องนิรโทษกรรมมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าการนิรโทษกรรมจะนำไปสู่ความขัดแย้ง แต่อีกฝ่ายเห็นว่าการนิรโทษกรรมจะช่วยปลดล็อกคดีความต่างๆ ของบรรดาคนการเมืองทุกสีทุกฝ่ายและทำให้ทุกอย่างกลับมาเริ่มต้นกันใหม่ 

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการต่อรอง และ “เงื่อนไข” ที่จะนำมาสู่การนิรโทษกรรม

ประเมินกันว่า “ปรองดอง” จะเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่จะนำมาเจรจาต่อรองเรื่องนิรโทษ เพื่อบีบให้​ฝ่ายที่ต้องการล้างผิดต้องยอมรับเงื่อนไขไม่ออกมาเคลื่อนไหว หรือสร้างความวุ่นวายในอนาคต

นับเป็นข้อเสนอที่ วิน-วิน ทั้งฝ่าย คสช. ​และกลุ่มการเมืองที่ต้องการนิรโทษและยังช่วยทำให้บรรยากาศบ้านเมืองกลับมาสงบสุข แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาแค่ชั่วครู่ชั่วยาม

บางกระแสยังเชื่อมโยง​การ “นิรโทษกรรม” ไปกับกระบวนการไล่เก็บภาษีการขายหุ้นชินคอร์ปที่กำลังเร่งเครื่องก่อนหมดอายุความในวันที่ 31 มี.ค.นี้ ทั้งที่นิ่งเงียบมายาวนาน รวมไปถึงการไล่บี้เรียกเก็บค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวหลายหมื่นล้านบาท

ทั้งหมดนี้ล้วนแต่สะท้อนให้เห็นเส้นทาง “ปรองดอง” ที่บีบให้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือไม่ว่าจะเห็นชอบหรือไม่ก็ตาม แต่ด้วยความจำเป็นไม่ว่าจะเป็นการต่อรองหรือแรงบีบทางอ้อม

สิ่งที่จะได้ตามมาจาก “นิรโทษกรรม” อาจไม่ได้มีเพียงแค่การสร้างความปรองดอง​ แต่ยังรวมไปถึงแรงผลักดันและสนับสนุน “นายกฯ คนนอก”​ ตามที่ฝ่าย คสช.ต้องการ

ด้วยสภาพการเมืองและกฎกติกาใหม่ที่กำลังจะออกย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายที่พรรคการเมืองจะรวมเสียงสนับสนุนเพียงพอจะเลือกนายกฯ ที่ตัวเองต้องการ

สอดรับไปกับกลไกและการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ที่ว่ากันว่าเป็นการสืบทอดอำนาจไปสู่ช่วงเวลาหลังการเลือกตั้งที่ก่อร่างสร้างตัวไปตามลำดับ

นิรโทษกรรม จึงอาจเป็นเงื่อนไขที่เพิ่มอำนาจการต่อรองที่ได้ทั้งความปรองดองและนายกฯ คนนอก