posttoday

บทเรียนจากเม็กซิโก

16 มีนาคม 2560

ช่วงที่ผ่านมาคอลัมน์นี้หายหน้าหายตาไปหลายวัน ด้วยมีอันต้องเดินทางไปต่างประเทศ โดยจุดหมายปลายทางสุดท้ายก็คือที่เม็กซิโก

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

ช่วงที่ผ่านมาคอลัมน์นี้หายหน้าหายตาไปหลายวัน ด้วยมีอันต้องเดินทางไปต่างประเทศ โดยจุดหมายปลายทางสุดท้ายก็คือที่เม็กซิโก

การไปเม็กซิโกก็เพื่อไปดูการปฏิรูปพลังงานของประเทศนี้

เดิมทีเม็กซิโกเป็นประเทศที่มีทรัพยากรน้ำมันมหาศาล เคยส่งออกน้ำมันเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่ก็ประสบปัญหาต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ทรัพยากรที่มีอยู่ใช้ไม่ได้เต็มที่และฉุดรั้งเศรษฐกิจโดยรวมของเม็กซิโก

ประเด็นปัญหาก็เริ่มจากแนวคิดชาตินิยม โดยเมื่อ 80 ปีก่อนรัฐบาลเม็กซิโกยึดกิจการพลังงานและน้ำมันทั้งหมด และตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่ชื่่อ Pemex เข้ามาดูแลแต่เพียงผู้เดียว บริษัทต่างชาติไม่สามารถเข้ามาลงทุนด้านน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติได้ ยกเว้นจะเข้ามารูปแบบของการรับจ้าง หรือ Service Contract

ครั้งนั้นถือเป็นความภูมิใจของเม็กซิโก ขนาดที่ว่ามีการสร้างอนุสาวรีย์การยึดคืนสัมปทานปิโตรเลียม (Monumento a la Expropiación Petrolera) ตระหง่านกลางเมืองหลวงเม็กซิโก ซิตี้

แต่ทว่าสิ่งที่ตามมาคือสารพัดปัญหาที่สะสมเหมือนระเบิดเวลา

ไม่ว่าจะเป็น Pemex ขาดความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ ขาดเทคโนโลยี ขาดคน ทำให้การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมมีข้อจำกัด

ขณะเดียวกันการว่าจ้างบริษัทต่างชาติให้เข้ามาสำรวจ ขุดเจาะน้ำมัน  Pemex ก็ต้องมีความเสี่ยงเพียงผู้เดียว จากการขุดเจาะไม่พบแหล่งน้ำมัน ขณะที่บริษัทต่างชาติต่างก็ได้รับค่าจ้างเต็มเม็ดเต็มเหนี่ยว

การกลั่นน้ำมันที่ผูกขาดโดย Pemex  ก็ไม่มีการพัฒนา จนทำให้การกลั่นน้ำมันประสบปัญหาไม่พอเพียงต่อการใช้ และเกิดภาวะความไม่สมดุลระหว่างชนิดน้ำมันดิบที่ขุดเจาะได้กับน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นออกมา

เม็กซิโกจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการส่งออกน้ำมันดิบไปต่างประเทศและนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปมาใช้  จนกลายเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันไปโดยปริยาย ทั้งที่มีแหล่งน้ำมันดิบมหาศาล

ผลตามมาอีกก็คือปริมาณก๊าซธรรมชาติผลิตได้ก็ไม่พอเพียงต่อความต้องการ จากข้อจำกัดในเรื่องการขุดเจาะน้ำมันและคอขวดจากโรงกลั่นฯ ในประเทศ ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซจากสหรัฐเข้ามาอีก

และเม็กซิโกก็ยังยึดแนวทางอุดหนุนราคาพลังงานให้ต่ำเกินจริงจนกลายเป็นภาระด้านงบประมาณมาตลอด

นโยบายพลังงานของเม็กซิโกจึงเป็นระเบิดลูกใหญ่  ไม่ต่างจากละตินอเมริกาหลายประเทศ อาทิ เวเนซุเอลาที่ใช้ความเป็นชาตินิยมนำหน้า ยึดสัมปทานปิโตรเลียม อุดหนุนราคาพลังงานให้คนในประเทศ

อย่างไรก็ตาม เม็กซิโกยังไม่ต้องพบกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจจนกลายเป็นวิกฤตทางการเมืองอย่างเวเนซุเอลา เนื่องจากมีพี่เบิ้มคอยหนุนหลัง นั่นคือสหรัฐ ที่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ทำให้เศรษฐกิจเม็กซิโกไม่ล้มครืน จากการที่ได้เป็นฐานการผลิตสินค้าส่งเข้าไปในตลาดสหรัฐและแคนาดา

แต่ถึงกระนั้นการปล่อยให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติดำเนินกิจการต่อไป ก็จะยิ่งฉุดรั้งเม็กซิโกให้ลงเหว จึงเกิดการตัดสินใจครั้งใหญ่ในการปฏิรูปพลังงานของประเทศ

การผ่าตัดที่มาพร้อมกับการเจ็บปวดจึงเกิดขึ้นในช่วงปี 2556 โดยรื้อใหญ่ทั้งระบบทั้งกิจการน้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ

บทเรียนจากเม็กซิโกเป็นสิ่งที่ไทยควรศึกษา เพราะข้อเสนอหลายประการที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการย้อนยุค ให้บ้านเมืองของเราไปเจอกับปัญหาเหมือนกับเม็กซิโกเมื่อ 80 ปีก่อน

เม็กซิโกทำอะไรบ้าง ขอเล่าต่อพรุ่งนี้อีกสักวัน