posttoday

อาวุธหนักเจ้าสัวซีพี

17 กุมภาพันธ์ 2560

เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ไปปาฐกถา การเปลี่ยนผ่านไปสู่ไทยแลนด์ 4.0

โดย...โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ไปปาฐกถา การเปลี่ยนผ่านไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในงาน “โอกาสทางการลงทุนในประเทศไทย” (Opportunity Thailand) เมื่อวันพุธที่ผ่านมา

หลากหลายเรื่องราวที่เจ้าสัวธนินท์ฉายภาพให้เห็น นับตั้งแต่โอกาส วิกฤต ของธุรกิจ ฯลฯ อนาคตของไทยที่ต้องเผชิญในอนาคต

แต่มีประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เจ้าสัวธนินท์กล่าวถึงคนรุ่นใหม่ที่จะสร้างโอกาสในโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่าน และซีพีเองสร้างศูนย์ผู้นำเพื่อรองรับธุรกิจในอนาคต โดยมีการฝึกอบรมปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 คน

นี่แหละคือสิ่งที่น่าสนใจ เป็นยุทธศาสตร์แห่งอนาคตของซีพี

หลายปีก่อน เจ้าสัวธนินท์ มีความคิดในโครงการตั้งสถาบันพัฒนาผู้นำซี.พี. (C.P.Leadership Development Institute)

ในปี 2554 ซีพีใช้เงิน 450 ล้านบาท ตั้ง บริษัท พัฒนาผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อรับผิดชอบโครงการนี้ และเพิ่มทุนเรื่อยๆ จนมีทุนชำระแล้ว 1,750 ล้านบาท แถมยังกู้เงินแบงก์กรุงศรีอยุธยาอีก 3,278 ล้านบาท มาสำรองไว้ รวมแล้วหน้าตักก็มีเงินราวๆ 5,000 ล้านบาท

สถาบันพัฒนาผู้นำซี.พี. ตั้งอยู่ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา บนพื้นที่ 500 ไร่ มีสิ่งก่อสร้าง 3 อาคาร คือ ศูนย์อบรม (Training Center) ที่พักระดับวีไอพี (VIP Guest House) และอาคารออกกำลังกาย (Fitness Center) รวมพื้นใช้สอยประมาณ 80,285 ตารางเมตร...!!!

ถัดมาเป็นโครงสร้างหลักสูตร การอบรมพัฒนา ซีพีดัดแปลงจากโมเดลของบริษัทยักษ์อย่างจีอี-General Electric ในช่วงที่มี แจ็ค เวลท์ (Jack Welch) ซีอีโอระดับโลกนั่งเป็นผู้นำ

ผู้ที่ยกร่างหลักสูตรให้ซีพีคือ โนเอล เอ็ม ทิชชี่ ศาตราจารย์ด้านบริหารธุรกิจระดับโลก จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา และเป็นต้นตำรับที่เคยร่างหลักสูตรการพัฒนาองค์กรให้กับจีอี 

ทิชชี่ เริ่มต้นด้วยการทำ Workshop ในกลุ่มผู้บริหารระดับสูงของซีพี อันเป็นที่มาของค่านิยม 6 ประการ  คือ 1.ประโยชน์ 3 ประการ เพื่อประโยชน์ประเทศ ประโยชน์ประชาชน และประโยชน์บริษัท 2.ทำเร็วและมีคุณภาพ 3.ทำเรื่องยากเป็นเรื่องง่าย 4.ยอมรับการเปลี่ยนแปลง 5. สร้างสรรค์สิ่งใหม่ 6.มีคุณธรรมและความซื่อสัตย์

จากนั้น ทิชชี่ สร้างหลักสูตรให้สถาบันฯ โดยมีค่านิยม 6 ประการเป็นแกนกลาง และสร้างรูปแบบองค์ความรู้เฉพาะของซีพี ขับเคลื่อนทั้งองค์กร ใช้รูปแบบการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง (ALP-Action Learning Program)

หลักสูตรดังกล่าวจะเน้นที่การนำปัญหาในองค์กรมาวิเคราะห์ เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ ในลักษณะทีมงาน ให้เกิดการแก้ไขอย่างสร้างสรรค์ ผสมผสานระหว่าง องค์ความรู้ แนวทางการบริหารงานของผู้นำในแต่ละประเทศที่ซีพีออกลงทุน มุ่งสู่การสร้างองค์กรระดับโลก โดยการบริหารงานในแบบฉบับเฉพาะของซีพี

สถาบันพัฒนาแห่งนี้ยังมีจุดมุ่งหวัง ดึงดูดคนเก่งจากองค์กรชั้นนำระดับโลก ให้อยากร่วมงานกับซีพี เพราะมองเห็นยุทธศาสตร์การให้ความสำคัญกับคุณค่าของคนอย่างชัดแจ้ง

ทั้งหมดคืออนาคตเครือซีพี ที่เน้นน้ำหนักไปที่ยกระดับพัฒนาคน

แค่ความคิด+เงินที่ลงไป เป็นอาวุธหนักระดับเจ้าสัวสั่งลุย