posttoday

พรรคไม่เอาถ่าน

14 กุมภาพันธ์ 2560

พรรคประชาธิปัตย์แสดงตัวแน่ชัดแล้วเป็นพรรคไม่เอาถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

พรรคประชาธิปัตย์แสดงตัวแน่ชัดแล้วเป็นพรรคไม่เอาถ่าน

ไม่เอาถ่านที่ว่า คือไม่เอาถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และ กรณ์ จาติกวณิช แกนนำของพรรค ออกมาแถลงไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ และรวมถึงที่ อ.เทพา จ.สงขลา

เรียกว่าไปสร้างที่ไหนก็ไม่เอา

ข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ สำหรับโรงไฟฟ้ากระบี่ให้ศึกษาการใช้น้ำมันปาล์มมาผลิตไฟฟ้า ขณะที่เทพาให้ตั้งโรงไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซแอลเอ็นจี หรือก๊าซธรรมชาติเหลวแทน

เป็นการแสดงจุดยืนที่กระทบกระเทือนถึงนโยบายพลังงานอย่างเต็มเปา

หลายทศวรรษที่ผ่านมานโยบายพลังงานของไทยยึดโยงกับถ่านหินมาโดยตลอด สาเหตุสำคัญเนื่องจากแนวคิดต้องการกระจายการใช้พลังงานของประเทศ ไม่ให้ผูกติดกับก๊าซธรรมชาติมากเกินไป

การใช้ถ่านหินยังมีเสถียรภาพด้านราคา และการสำรองวัตถุดิบที่ใช้ผลิตไฟฟ้า

แม้กระทั่งยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ในอดีต ถ่านหินก็ยังคงเป็นนโยบายพลังงานหลักมาโดยตลอด

ข้อเสนอการใช้ก๊าซแอลเอ็นจี หรือน้ำมันปาล์มผลิตไฟฟ้า จึงเป็นการจุดประเด็นใหม่ และจะก่อให้เกิดการถกเถียงเพื่อหาข้อเท็จจริงในวงกว้าง

อาทิ ก๊าซแอลเอ็นจีในขณะนี้ราคาลดต่ำตามภาวะราคาน้ำมันที่ตกต่ำ แต่ในอนาคตหากราคาน้ำมันขยับ ราคาก๊าซแอลเอ็นจีจะปรับตัวขึ้นอย่างแน่นอน โดยราคาจะแพงแซงถ่านหิน

หรือกระทั่งการใช้น้ำมันปาล์มผลิตไฟฟ้า ก็จะทำให้ราคาค่าไฟแพงกว่าราคาถ่านหิน

ราคาค่าไฟที่แพงขึ้น จะเป็นที่ยอมรับกันหรือไม่

น้ำมันปาล์มยังมีปัญหาที่สำคัญคือ ความมีเสถียรภาพของวัตถุดิบ บางช่วงถ้าราคาน้ำมันปาล์มดิบปรับตัวสูงขึ้น หรือผลผลิตขาดแคลน โรงงานไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันปาล์มจะมีปัญหา และจำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงอื่นผลิตไฟฟ้าแทน เช่น น้ำมันเตา หรือน้ำมันดีเซล สุดท้ายก็จะวนมาที่ราคาค่าไฟอีกเช่นกัน

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นข้อมูลด้านพลังงานที่คงต้องถกเถียง เอาล่อเอาเถิดกันอีกนาน

อย่างไรก็ตาม การที่ประชาธิปัตย์ชูนโยบายพลังงานสีเขียว ถือเป็นการแสดงจุดยืนสำคัญทางการเมือง เหมือนกับในต่างประเทศอย่างเยอรมนี อังกฤษ ก็มีพรรค Green Party หรือพรรคสีเชียว ที่เสนอนโยบายใหม่เป็นทางเลือกให้ประชาชน

พรรคสีเขียวในต่างประเทศยังแบ่งเป็นทั้งเขียวอ่อน เขียวแก่ โดยความแตกต่างกันก็คือ พรรคสีเขียวอ่อนไม่ต้องการเข้ามามีอำนาจทางการเมือง แต่พรรคสีเขียวแก่ต้องการเข้ามามีอำนาจบริหารประเทศ

สำหรับเมืองไทย คงเรียกขานประชาธิปัตย์เป็นพรรคสีเขียวได้ยาก เพราะสีเขียวในบ้านเรามักจะเป็นสีเขียวลายพรางเสียมากกว่า

เลยขอเรียกว่า ประชาธิปัตย์ ไม่เอาถ่าน(หิน)

จำง่ายกว่ากันเยอะ