posttoday

2 การประชุมธนาคารกลาง FOMC และ BOJ บอกอะไรเราบ้าง?

23 กันยายน 2559

โดย เจษฎา สุขทิศ, CFA &ชยนนท์ รักกาญจนันท์, AFPT INFINITI Global Investors, The Ultimate Investment Solution

โดย เจษฎา สุขทิศ, CFA &ชยนนท์ รักกาญจนันท์, AFPT INFINITI Global Investors, The Ultimate Investment Solution

ผ่านไปกับสัปดาห์ที่นักลงทุนจับตามากที่สุดในเดือน ก.ย. หลังการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น และ สหรัฐฯ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา เราลองไปดูกันว่า ใน War Room เขามองเรื่องนี้กันอย่างไร

เจษฎา :จริงๆผมแอบคาดการณ์ลึกๆว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะใช้ยาแรง กดอัตราดอกเบี้ยให้ติดลบมากขึ้น หรือไม่ก็ใช้ Helicopter Money Policy ไปเลยนะคุณแบงค์ ไม่ใช่แค่เปลี่ยนกรอบนโยบายมาบริหาร Yield Curve ของพันธบัตร

ชยนนท์ : ผมมองว่า มันมีความเสี่ยงอยู่เยอะนะ ถ้าดำเนินนโยบายผิดทาง และผลการประชุม BOJ ครั้งนี้ ก็มีนักวิเคราะห์ให้มุมมองกันว่า อาจเป็นจุดสิ้นสุดของการทำ QE ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลของ BOJ ไปแล้วก็ได้ และเป็นการหันมาใช้นโยบายการเงินในรูปแบบอื่นแทน

เจษฎา :ไม่ทำ QE ในตลาดตราสารหนี้ ก็อาจทำ QE ในตลาดหุ้นนะครับ เพราะที่ผ่านมา ตอนที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นติดลบในช่วงครึ่งปีแรกมา ผลประกอบการณ์กลุ่มธุรกิจธนาคาร และประกันภัยในญี่ปุ่น ต่างรายงานงบกันออกมาไม่ดีทั้งนั้นเลย สาเหตุเพราะ ดอกเบี้ยติดลบนี่ละ ดังนั้น ก็ต้องเปลี่ยนนโยบาย

ชยนนท์ : แต่ทำ QE ในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ก็มีความเสี่ยงนะคุณเจท BOJ บอกว่าจะลงทุนในตลาดหุ้นผ่านกองทุน ETF ที่อ้างอิงกับดัชนี Nikkei225 แต่เพราะดัชนีตัวนี้เป็น Price Weighted ไม่ใช่ Market Cap Weighted ดังนั้น เงินอัดฉีด จะเข้าไปลงทุนในหุ้นที่ราคาแพงๆ ซึ่งทำให้ BOJ เข้าถือครองบริษัทจดทะเบียนในสัดส่วนที่สูงเกินไปหรือเปล่า อันนี้ต้องระมัดระวังเลย

เจษฎา : ผมเชื่อว่า BOJ จะมีการปรับเป้าหมายในการลงทุนผ่าน ETF ใหม่นะครับ อันนี้เราต้องติดตามกัน

ชยนนท์ : แสดงว่า ผลการประชุม และการเปลี่ยนกรอบนโยบายการเงินครั้งนี้ คุณมองเป็นบวกใช่ไหม?

เจษฎา : ใช่ครับ การเปลี่ยนกรอบนโยบายมาบริหาร Yield Curve ของพันธบัตร ก็เพื่อให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไม่ต่ำเกินไป จนทำให้ธนาคารในญี่ปุ่นมีปัญหา และไม่ควรสูงเกินไปจนทำให้ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีนะ

ชยนนท์ : แต่ผมมองว่า ยังต้องรอดูกันก่อนครับ ค่าเงินเยนเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ ก็จะเห็นว่า ไม่ได้อ่อนค่าเพิ่มเติม แถมแข็งค่ามาทดสอบที่ 100 JPY/USD วันพฤหัสฯที่ผ่านมา ตรงนี้ ก็อาจยังเป็นปัญหาของธุรกิจส่งออกในญี่ปุ่นครับ และยิ่งเงินเยนแข็งค่า ก็อาจนำมาซึ่งเงินทุนไหลกลับจากการ Unwind YEN Carry Trade ด้วย

เจษฎา : แล้วประชุม FOMC ละคุณแบงค์มองยังไง

ชยนนท์ : เฟดส่งสัญญาณค่อนข้างชัดเจนนะครับว่า ปีนี้จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 1 ครั้ง และปีหน้า น่าจะอีก 1-2 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงการค่อยๆทยอยปรับขึ้นอย่างค่อยๆเป็นค่อยๆไป ไม่รู้เพราะเฟดมองว่า เงินเฟ้อจะค่อยๆขยับสูงขึ้น และไม่วิ่งพรวดหรือเปล่า ตรงนี้ ถ้าไปดูประมาณการการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด (Dot Plot) จะสะท้อนชัดเลยว่า ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยช้าที่สุดเลยก็ว่าได้

เจษฎา : อีกด้านที่มีนักวิเคราะห์มองก็คือ เฟดอาจจะอยากรอดูหลังเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯหรือเปล่า ว่าจะออกมาหัวหรือก้อย เพราะดูเหมือนนโยบายของทั้งฝั่งฮิลารี และทรัมป์นั้น ค่อนข้างมีความแตกต่างกันพอสมควร เรียกว่าเก็บกระสุนไว้ ใจเย็นๆ แล้วค่อยดูสถานการณ์กันต่อไป

ชยนนท์ : ข้อดีที่เห็นชัด ณ ตอนนี้คือ ค่าเงินดอลล่าร์อ่อนค่า และ Risky Asset ทั่วโลก โดยเฉพาะหุ้น ก็กลับมาคึกคักกันอีกครั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่ผมตั้งเป็นข้อสังเกตว่า ตลาดหุ้นอาจไปได้ไม่ไกลมาก ก็คือ การที่เฟดปรับประมาณการ GDP ของสหรัฐฯลง และจริงๆแล้ว มีคณะกรรมการถึง 3 ท่าน จากทั้งหมด 10 ท่านที่โหวตว่าอยากให้ขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่ตอนนี้เลย มันแสดงให้เห็นว่า มุมมองของผู้กำหนดนโนยายต่อเศรษฐกิจ ยังไม่ค่อยดี แต่ก็กลัวที่จะกดดอกเบี้ยให้ต่ำแบบนี้ต่อไปในระยะยาว

เจษฎา : เอาว่า ระยะสั้นๆ 2-3 เดือนข้างหน้า การที่ Bond Yield ทั้งโลกปรับตัวลดลง ตามมุมมองของเฟด ผมว่าเป็นข้อดีต่อตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้นะครับ ไว้ใกล้เลือกตั้งสหรัฐฯเข้ามา แล้วเรามาดูกันอีกทีว่าจะไปต่อได้ไกลแค่ไหนทั้งหุ้น ทั้งตราสารหนี้เลย