posttoday

เซตซีโร่ไปก็เท่านั้น

15 กันยายน 2559

อ่านข่าวการเมืองทุกวันนี้เห็นแต่คำว่า “เซตซีโร่” เต็มไปหมด เท่าที่นึกได้เร็วๆ คนที่ใช้วาทกรรมนี้คนแรกๆ น่าจะเป็น “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี

โดย...หงส์แดง  [email protected]

อ่านข่าวการเมืองทุกวันนี้เห็นแต่คำว่า “เซตซีโร่” เต็มไปหมด เท่าที่นึกได้เร็วๆ คนที่ใช้วาทกรรมนี้คนแรกๆ น่าจะเป็น “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี

“เริ่มต้นกันให้ถูกต้อง” Set Zero แล้วเดินหน้า หรือว่ายังจะทะเลาะกันอย่างนี้” (โพสต์ทูเดย์ สัมภาษณ์พิเศษ 22 ต.ค. 2556)

“เซตซีโร่” แปลตรงตัวแบบที่เข้าใจทั่วไปคงมีความหมายว่า “มาเริ่มต้นใหม่ที่ศูนย์” หรือ “กลับมาเริ่มต้นใหม่”

จากนั้นเป็นต้นมาก็กลายเป็นคำฮิตในแวดวงการเมือง ในช่วงก่อนการรัฐประหาร 2557 ก็มีบางพรรคนำคำนี้ไปใช้เพื่อออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบสุดซอยจนสร้างปัญหาและความวุ่นวายอย่างที่เห็น

มาถึงยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คำว่า “เซตซีโร่” กลับมาติดหูอีกครั้ง แต่เป็นการเซตซีโร่พรรคการเมือง หรือที่เข้าใจกันง่ายๆ ว่า “ยุบพรรคการเมือง” นั่นเอง โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง

ช่วงแรก เกิดขึ้นในช่วงที่ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ทำหน้าที่เป็นแม่ทัพจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่ามีข่าวซุบซิบออกมาว่าพรรคการเมืองอาจถูกเซตซีโร่ด้วยร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายก็ไม่มีเรื่องนั้น

ช่วงสอง เกิดขึ้นในช่วงที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” เข้ามารับไม้ต่อ ข้อเรียกร้องให้ยุบพรรคการเมืองผ่านร่างรัฐธรรมนูญก็ผุดขึ้นอีกครั้ง แต่งานนี้ กรธ.ตบโต๊ะชัดเจนว่าไม่เอาด้วย

ความพยายามในการเซตซีโร่พรรคการเมืองถูกส่งต่อมายังสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง

ตอนแรกดูเหมือนจะขึงขังพอสมควรว่าเอาแน่ๆ เอาจริง เพื่อไม่ให้มีพรรคการเมืองใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่พอเสียงต้านเริ่มหนัก สปท.ก็แผ่ว ไม่กล้าไปต่อ เลยทำได้แค่การยื่นข้อเสนอ “เซตซีโร่สมาชิกพรรคการเมือง”

กล่าวคือถ้าพรรคการเมืองใดไม่รับรองสถานะของสมาชิกพรรคหลังจากมีกฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ จะเป็นผลให้พรรคการเมืองต้องไปหาสมาชิกพรรคใหม่ให้ครบตามที่กฎหมายกำหนด

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่เชื่อเสมอมาตลอดว่าต่อให้พรรคการเมืองถูกยุบ หรือยุบสมาชิกพรรคการเมือง บรรดานักการเมืองก็ไม่ได้สะทกสะท้านอะไร ไม่เชื่อลองกลับไปดูอดีตที่ผ่านมาก็ได้

ยุบพรรคไทยรักไทย ก็มีพรรคพลังประชาชน พอยุบพรรคพลังประชาชน ก็มีพรรคเพื่อไทย หรือยุบพรรคชาติไทย ก็มีพรรคชาติไทยพัฒนา พอมายุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย ก็มีพรรคภูมิใจไทย

เรียกได้ว่า คุณยุบ ผมก็ตั้งขึ้นใหม่ ไม่มีปัญหา

ดังนั้น ที่บอกว่าถ้าเซตซีโร่แล้วจะช่วยให้เกิดความเท่าเทียมกัน ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะความเท่าเทียมกันที่แท้จริงของพรรคการเมืองด้วยกัน คือ ทุนทรัพย์ของพรรค

พรรคไหนมีเงินเยอะกว่าย่อมต้องได้เปรียบกว่าคนที่เบี้ยน้อยหอยน้อย เป็นการเอาความจริงมาพูดกัน ไม่ได้เอามุมมองแบบโลกสวยมานำเสนอ

ยังดีนะครับที่ข้อเสนอของ สปท.มีเรื่องการควบคุมการใช้เงิน มิเช่นนั้นแล้วข้อเสนอของ สปท.คงได้รับก้อนอิฐมากกว่าดอกไม้เป็นแน่