posttoday

บึ้มใต้7จังหวัด ยิ่งมั่ว คสช.ยิ่งเละ

22 สิงหาคม 2559

ความสับสนคลุมเครือและสะเปะสะปะไร้ทิศทางของการติดตามตัวคนร้ายจากเหตุระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ความสับสนคลุมเครือและสะเปะสะปะไร้ทิศทางของการติดตามตัวคนร้ายจากเหตุระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ กำลังจะทำลายความเชื่อมั่นในกระบวนการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ และบานปลายไปถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ปัญหาสำคัญเวลานี้อยู่ที่การออกมาให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องที่หลายครั้งในประเด็นสำคัญกลับพูดกันไปคนละทิศคนละทาง ที่นอกจากสร้างความสับสนแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นจุดอ่อนและปัญหาในการปฏิบัติงาน

เริ่มตั้งแต่ช่วงแรกที่ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. ออกมาระบุถึงการจับกุมตัว ​ศักรินทร์ คฤหัสถ์ ได้อย่างรวดเร็ว​ตามหมายจับของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่กลายเป็นผู้ต้องหาผู้ที่ก่อเหตุลอบวางเพลิงห้างสรรพสินค้าโลตัส จ.นครศรีธรรมราช

“การจะออกหมายจับเพิ่มก็ต้องดูที่พยานหลักฐาน หากถึงใครก็จะขออนุมัติศาลออกหมายจับ แต่ก่อนถึงกระบวนการออกหมายจับ ก็มีการเชิญตัวมาสอบปากคำ ที่ผ่านมาทุกคนที่ถูกเชิญตัวมา
สอบปากคำได้ให้การที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน”

แต่ทุกอย่างกลับตาลปัตร เมื่อต่อมา พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช ไปขอเพิกถอนหมายจับ ​ศักรินทร์ กับศาลอาญาจังหวัดนครศรีธรรมราชในข้อหาเดิมคือวางเพลิง

พร้อมสั่งให้ไปรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาว่า มีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อนุญาตไว้ในครอบครอง ก่อนขอหมายจับกับศาลมณฑลทหารบกที่ 41 ต่อไป

ไม่กี่วันถัดมาเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงได้ควบคุมตัวผู้ที่เชื่อมโยงขบวนการก่อความไม่สงบใน 7 จังหวัดภาคใต้ ทั้งหมด 17 คน โดยนำตัวไปควบคุมที่ มทบ.11 แยกเป็นชาย 13 คนและหญิง 4 คน ซึ่ง 6 ใน 17 คน เป็นแกนนำสำคัญ ทำหน้าที่ประสานงานและเคลื่อนไหว

รายงานข่าวออกมาว่า กลุ่มคน 17 คนนี้ยังทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างกลุ่มที่เป็นผู้ว่าจ้างหรือหัวหน้าขบวนการที่ตอนนี้แนวทางสืบสวนพบว่า เป็นกลุ่มนักการเมืองที่มีอิทธิพลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กับกลุ่มที่ลงมือประกอบระเบิดและวางระเบิดในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้

ทว่า วันรุ่งขึ้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ออกมาปฏิเสธว่า การควบคุมตัวทั้ง 17 คนไม่เชื่อมโยงกับเหตุระเบิดในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ ส่วนที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าการจับกุมใกล้เคียงกับการหาเบาะแสผู้ก่อเหตุหลายจังหวัดภาคใต้นั้น ไม่ใช่การเพ่งเล็งเฉพาะช่วงนี้เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ติดตามมาโดยตลอด

ยังไม่รวมกับการรีบตั้งเป้าในช่วงแรกว่า คดีนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังเชื่อมโยงกับการเมือง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเชื่อมโยงไปถึงผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนส่วนใหญ่ออกมาลงมติให้ความเห็นชอบ

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ​มองประเด็นการก่อเหตุว่า เกี่ยวข้องกับการลงประชามติตั้งแต่แรก​โดยเป็นการตั้งสมมติฐานอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง

“ตอนนี้ยังไม่ตัดประเด็นอื่นออก ในการสืบสวนตั้งไว้หลายประเด็น แต่ประเด็นประชามติเป็นประเด็นที่เราให้น้ำหนักมาตั้งแต่แรก พร้อมวิเคราะห์ความเชื่อมโยงเทียบเคียงกับคดีระเบิดในกรณีอื่นๆ รวมทั้งเหตุความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”​

แตกต่างกับทาง พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช.​ ที่ประเมินในช่วงแรกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และไม่ใช่เรื่องการก่อการร้ายสากล

ก่อนจะให้น้ำหนักไปยังประเด็นความขัดแย้งในพื้นที่ หรือความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติหรือระดับท้องถิ่นก็เป็นได้ ​

สุดท้ายนอกจากจะสับสนในเชิงข้อมูล ความหละหลวมในการตั้งข้อหา ความสะเปะสะปะในการดำเนินการของแต่ละส่วน ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถหาตัวคนร้ายมาดำเนินคดีได้ลดลงไป

ยังไม่ต้องไปเทียบเคียงกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอดีตเรื่อยมาตั้งแต่ระเบิดกลางกรุงลูกแรกที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม ซึ่งจนถึงวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้า

เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นต่อๆ มายิ่งทำให้เห็นจุดอ่อนของการติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดี ปัญหาเรื่องหน่วยข่าว จนไม่อาจการันตีได้ว่าความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต

ทั้งที่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือและกลไกต่างๆ ที่เอื้ออำนวยให้มากกว่ายุคปกติ แต่ยังปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่อุกอาจและมีการเตรียมการล่วงหน้าเพื่อก่อเหตุพร้อมกันใน 7 จังหวัด

ทิศทางการทำงานที่ยังสับสนเวลานี้ จึงมีแต่จะกัดกร่อนความเชื่อมั่นใน คสช.อย่างรุนแรง​ จนยากจะฝากความหวังได้