posttoday

อย่าสับสน

01 สิงหาคม 2559

สับสนที่สุดน่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์เวลานี้

โดย...พะนะท่าน [email protected]

สับสนที่สุดน่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์เวลานี้

โหวตประชามติวันที่ 7 ส.ค.นี้ เอายังไงกันดี รับ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

หัวหน้า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพราะไม่ตอบโจทย์ประเทศ แต่ลุงกำนัน สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ทรงอิทธิพลในพรรคประชาธิปัตย์ เหนียวแน่นรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศ

ขนาด รังสิมา รอดรัศมี สวมหมวกสองใบเป็นทั้งลูกพรรคสะตอ และควบสมาชิก กปปส. ก็งงไปหมด เธอรับว่าตอนนี้หนักใจ ประชาชนโทรมาถามจะรับหรือไม่รับ ไม่รู้จะตอบอย่างไร หัวหน้าพรรคไปทาง สุเทพ ไปอีกทาง

แม้จะมีเป้าหมายเดียวกันถอนรากถอนโคนระบอบทักษิณ แต่ก็มองกันสุดขั้วเพราะเคลื่อนกันคนละเวที พรรคประชาธิปัตย์สู้ในระบบรัฐสภา สุเทพสู้ข้างถนนนอกสภา

หลังเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นผู้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยตรง ยังไงก็ต้องปฏิเสธไม่รับไว้ก่อน เพราะหลักการบางเรื่องไม่ตอบโจทย์ประชาธิปไตย โดยเฉพาะ สว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งนักการเมืองจะเป็นผู้สูญเสียอำนาจเพราะร่างรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้กลุ่ม คสช.สืบทอดอำนาจได้ ครั้นจะแก้รัฐธรรมนูญก็ยากอีก ต้องใช้เสียงในสภาแบบหืดขึ้นคอ

ในหลักการ ประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าแก่ต่อต้านเผด็จการมาตลอด ถ้ารอบนี้ไปยืนข้างรัฐประหารเต็มตัว สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญผลผลิตของ คสช. ก็จะเสียอุดมการณ์ของพรรค

อย่าลืมว่า ตอนรัฐประหาร คมช. ปี 2549 และครั้งล่าสุด พรรคประชาธิปัตย์เสียคะแนนประชาธิปไตยไปจม ไม่ได้คัดค้านแถมยังปล่อยให้แกนนำพรรคออกบัตรเชิญให้ทหารเข้ามาปฏิวัติ

ถูกแล้วที่อภิสิทธิ์ประกาศจุดยืนไม่รับร่าง เพราะถ้าจะกลับมามีอนาคตทางการเมืองในระบบรัฐสภาที่ต่างชาติใช้เป็นข้ออ้างประชาธิปไตยกดดันไทย หัวหน้ามาร์คต้องกล้าปฏิเสธและยอมสวนทาง แต่ไม่ใช่กับ คสช. อันนี้มันไม่เท่าไร หักหน้าลุงกำนันนี่สิ มันใหญ่กว่าเยอะ เพราะเท่ากับส่งสัญญาณสับสนไปยังสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทั่วประเทศ และอาจพลอยให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ลุงกำนันปลาบปลื้มไม่ผ่านก็ได้

ความจริงพรรคประชาธิปัตย์ก็ถอดแบบมาจากพรรคเพื่อไทย แกนนำหลายคนขาหนึ่งอยู่กับ ปชป. อีกขาก็เคลื่อนไหวข้างถนน เป็นแกนนำ กปปส. พอเสร็จภารกิจไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เกิดรัฐประหารจัดระเบียบใหม่เสร็จสรรพก็กลับเข้ารังประชาธิปัตย์ตามเดิม ทั้งที่ตอนขึ้นเวทีก็ประกาศแล้วจะไม่กลับมาเล่นการเมืองอีก

แต่บิ๊กการเมืองเวลาจะตัดสินใจอะไร เขาคำนวณต้นทุน กำไร ผลดี ผลเสียหมด ดังนั้น ไม่ต้องห่วง เพราะถ้าสุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ประชาธิปัตย์ก็ยืดอกได้ว่า หัวหน้าพรรคมีจุดยืนทางประชาธิปไตย ค้านแล้วแต่ทัดทานไม่สำเร็จ ถ้าไม่ผ่านก็เช่นกัน บิ๊กตู่อยู่ต่อรอไม่กี่ปีเดี๋ยวก็เลือกตั้ง สุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์ไม่เสียหายอะไรบนถนนประชาธิปไตย

ที่น่าสนใจ ก็นี่สิ คนภาคใต้ที่ผูกติดกับแบรนด์ประชาธิปัตย์จะโหวตอย่างไร จะเห็นด้วยกับอภิสิทธิ์ไหม

คำนวณ ณ วินาทีนี้ใจน่าจะไปทาง ลุงกำนันสุเทพ ค่อนข้างท่วมท้นเพราะเห็นความทุ่มเทชัตดาวน์ประเทศ ไล่ยิ่งลักษณ์ ต้องช่วยกันออกแรงโหวต yes อีกครั้งเพื่อให้ภารกิจลุงกำนันถึงเป้าหมาย

ใครจะเล่นกี่หน้าก็ตาม แต่ภาคใต้ยังไงก็เหนียวแน่น ไม่เชื่่อลองดู...