posttoday

อยู่ต่อเลยได้ไหม?

22 กรกฎาคม 2559

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ถึงอยากจะหลีกเลี่ยงเวที “ดีเบต”

โดย...คุณบ๊งเบ๊ง [email protected]

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ถึงอยากจะหลีกเลี่ยงเวที “ดีเบต” รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นัก ทั้งที่ “คู่ตรงข้าม” ทั้งกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ทั้งภาคประชาชน หรือแม้แต่พรรคเพื่อไทย พูดนักพูดหนาว่าพร้อมจะโต้แย้งในหลายประเด็นที่เห็นไม่ตรงกัน

เพราะเรื่องที่ยังเป็นวิวาทะ ต่างก็เป็นเรื่องใหญ่ๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเรื่องอำนาจของ สว. อำนาจพิเศษของ คสช.หลังประชามติ การผูกเอายุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปให้รัฐบาลชุดหน้าต้องทำตาม “คำถามพ่วง” ว่าด้วยการให้อำนาจ สว.แต่งตั้งโดยคณะทหาร คสช.อย่างล้นฟ้า หรือแม้แต่ประเด็นที่หลายคนเห็นว่าเป็นผลกระทบ อย่างเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ที่แปลกประหลาด คือ กรรมการร่างฯ ทั้งคณะกลับอ้างว่า “ไม่มีเวลา” เพราะต้องเดินสาย “ให้ความรู้” ข้อดีของรัฐธรรมนูญทั่วประเทศ แต่เมื่อมีคนท้วงติง ก็กลายเป็นว่าคนที่ไม่เห็นด้วย เป็นพวกปลุกระดม-ยั่วยุ “บิดเบือน” ผิดกฎหมายบ้านเมือง

หนักเข้าไปอีก เมื่อมีเอกสาร “ความเห็นแย้ง” ก็เรียกไปว่าเป็นรัฐธรรมนูญปลอม แต่กลับไม่บอกว่าของเก๊ที่ตัวเองเรียกนั้น เนื้อหาไม่จริงอย่างไร บิดเบือนแค่ไหน หรือมีมูลข้อเท็จจริงหรือไม่

กองเชียร์บางคนยังไปตำหนิชาวบ้านว่าไม่อ่านรัฐธรรมนูญ มัวแต่คล้อยตาม “นักการเมือง” สุดท้ายก็เป็น “คนไทย” ที่ผิด เพราะอ่านหนังสือน้อยปีละไม่กี่บรรทัด แต่ตัวเองไม่เคยผิด ลอยตัวตลอดมาและตลอดไป

กลายเป็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่ดีเลิศโดยไม่ต้องโต้เถียง กลายเป็นว่าคนที่ไม่เห็นด้วยเป็นทาสนักการเมือง เป็นพวกบิดเบือน จะแสดงความคิดเห็นอะไรก็เสี่ยงคุก เสี่ยงตะรางไปโดยไม่รู้ตัว

แม้กรรมการร่างฯ บอกว่ารัฐธรรมนูญนี้ก้าวหน้ามากเรื่อง “สิทธิ” แต่เรื่องย้อนแย้งก็คือ แม้แต่สิทธิในการจะแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญกลับคลุมเครือ เพราะคนที่รณรงค์ว่า “ไม่เอา” โดนลงโทษขึ้นศาลทหารก็มีมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม คำถามที่ยังคาราคาซังอยู่อีกอย่าง ก็คือ หากประชาชนส่วนใหญ่ลงมติคว่ำร่างรัฐบาล คสช.จะเอายังไงต่อ?

เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรัฐประหาร ยังออกอาการกระฟัดกระเฟียดอยู่ทุกครั้ง เมื่อถูกถามเรื่องนี้ และปล่อยให้คำตอบเรื่องนี้ “คลุมเครือ” ต่อไป

พร้อมกับเอ่ยข้ออ้างเดิมว่าบ้านเมืองยัง “ไม่สงบ” จะต้องหาคนมาร่างรัฐธรรมนูญ หรือร่างด้วยตัวเอง แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากทั้งนักวิชาการ-ภาคประชาชน-นักการเมือง ว่าอาจถึงเวลาแล้วที่ทหารควรสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม ให้ประชาชนเข้ามาร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

น่าสนใจนะครับ เพราะเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า 2 ปีที่ผ่านมา “ความสงบเรียบร้อย” ที่บรรดาพลพรรค คสช.พูดกันว่าทหารหาญสามารถ “เนรมิต” ขึ้นมาได้ แท้จริงนั้นก็เป็นแค่เปลือก เพราะแม้แต่คุณประยุทธ์ก็ยังยอมรับว่าถ้ายังแตกแยกอยู่อย่างนี้ จะปล่อยให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับรัฐธรรมนูญไม่ได้

สุดท้ายเรื่องนี้ก็ยังไม่มีคำตอบ มีแต่คำเทศนาจากบรรดาท่านผู้มีอำนาจว่า ประเทศนี้ยังไม่พร้อม ทั้งการโต้เถียงรัฐธรรมนูญ ทั้งร่วมร่างรัฐธรรมนูญ

จะพร้อมอย่างเดียวก็คือ “ทหาร” ที่พร้อมอยู่ต่อไปนานที่สุด จนกว่าประเทศจะ “สงบ” เท่านั้น​