posttoday

ผิดธรรมชาติ

27 มิถุนายน 2559

การทำประชามติของสหราชอาณาจักรผ่านพ้นไปอย่างเรียบร้อย

โดย...พะนะท่าน  [email protected]

การทำประชามติของสหราชอาณาจักรผ่านพ้นไปอย่างเรียบร้อย มติของประชาชนเฉือนกันฉิวเฉียดจริงๆ 52% ต่อ 48% ให้ออกจากสหภาพยุโรป

ผลประชามติครั้งนี้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วสหภาพยุโรปที่อาจไม่จบง่ายๆ กลายเป็นโดมิโนให้ประเทศอื่นเอาอย่าง จนเห็นอนาคตว่าอียูที่เคยแข็งแกร่งอาจล่มสลายก็เป็นได้

ดูการทำประชามติกับประเทศที่เป็นแบบอย่างประชาธิปไตย มันน่าชื่นชมจริงๆ แม้จะมีเหตุการณ์บ้างระหว่างการรณรงค์ แต่เทียบระดับความรุนแรงทั้งหมดแล้วถือว่าไม่วุ่นวาย การตื่นตัวค่อนข้างสูง เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายแสดงความคิดเห็น “จะออก” หรือ “จะอยู่” อียูต่อ ได้อย่างเสรี เต็มที่ และเท่าเทียม

ผมเห็นด้วยกับ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล ที่อยากเห็นการลงประชามติรับ/ไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในไทยในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ดูแบบอย่างจากอังกฤษบ้าง โดยเฉพาะในประเด็น แม้จะมีความเห็นแตกต่างแต่ก็ไม่สร้างความแตกแยก หรือความวุ่นวายในสังคม

แต่ถ้าจะเอาเป็นเยี่ยงอย่างจริงๆ อย่าเอาเฉพาะเรื่องนั้นครับ

ความเรียบร้อยจะเกิดขึ้นได้ ต้องเป็นไปตามหลักการ เปิดกว้างให้ทุกฝ่ายได้พูด ได้รณรงค์กันจริงๆ มันเป็นแก่นของการทำประชามติทั่วโลก

ไม่ใช่ประชามติที่สร้างความหวาดกลัว ห้ามพูด ห้ามโน้มน้าวประชาชนมาสนับสนุนฝ่ายตนอย่างที่เป็นอยู่ เอาความผิดมาข่มขู่

หากเป็นเช่นนั้น สิ่งที่กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเดินสายพบปะประชาชนหรือหน่วยราชการ ก็ผิดหมดสิ เพราะไปชี้แจงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามหลักแล้วถือว่าทำได้ แต่ คสช.และ กกต. ก็ควรเปิดโอกาสให้ฝ่ายคัดค้านได้รณรงค์เพื่อความเป็นธรรมเช่นกัน

กฎเกณฑ์ กติกาต่างๆ ควรยืดหยุ่นครับ เปิดกันให้เต็มที่ ใครจะเชียร์ คัดค้าน ผมว่า ประเทศไทยมาถึงจุดนี้เรียนรู้อะไรมามาก ยิ่งผ่านหลักสูตรม็อบสาขาประชาธิปไตยทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง กปปส. ประชาชนได้รู้ว่าอะไรควรจำไว้เป็น “บทเรียน” กับทุกม็อบ และรัฐบาลที่ผ่านๆ มา คนไทยจึงไม่น่าขี้ลืมหรือความจำสั้นกันอีก

ขอฝากถึง คสช.และ กกต. อย่าให้มันฝืนธรรมชาติใช้กฎหมายเที่ยวไปไล่ตามจับ ระวังนะ มากเข้ามันจะเก็บกด ไปโผล่ในช่องคะแนนไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ ผิดหูผิดตาขึ้นมาแน่

ไม่เท่านั้น ถ้า คสช.ชนะประชามติรอบนี้ก็จะถูกตีตราว่าเป็นประชามติภายใต้กฎหมายพิเศษที่ไม่เสรี ไม่ยุติธรรม นำมาสู่ความไม่ศักดิ์สิทธิ์และการไม่ยอมรับในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งจะนำมาใช้ในบรรยากาศประชาธิปไตยที่ยังยุ่งเหยิง ขัดแย้ง

เอ่อ เกือบลืมไป ที่ เสธ.ไก่อู พูด เราควรเอาบทเรียนประชามติมาใช้ กลัวฝ่าย นปช.เขาจะย้อนได้ว่า เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เขาสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรอยู่อียูต่อ พอแพ้ประชามติ คาเมรอน ประกาศลาออกจากนายกรัฐมนตรีเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ได้รับเสียงปรบมือกันเกรียวกราว

แล้วถ้ารัฐบาล คสช.แพ้ประชามติ ประชาชนคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับ คสช.นายกฯ ลุงตู่ จะลาออกด้วยไหม!?!

ยังมีเวลาที่จะคิดใหม่กับการเปิดโอกาสให้สองฝ่ายได้พูดกันอย่างเท่าเทียมเป็นธรรมทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน