posttoday

16 ปีให้หลัง

25 ธันวาคม 2558

วานนี้ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมช.สาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า เป็นวันครบรอบ 16 ปี ที่คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์

โดย...คุณบ๊งเบ๊ง [email protected]

วานนี้ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมช.สาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า เป็นวันครบรอบ 16 ปี ที่คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ นำโครงการ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ไปเสนอ ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยในขณะนั้น

เวลาต่อมา “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” กลายมาเป็นโครงการ “30 บาทรักษาทุกโรค” และกลายเป็น “ตำนาน” ที่ทำให้ทักษิณเอามาโฆษณาถึงความสำเร็จได้ทุกเมื่อ

เพราะในบรรดานโยบายที่ถูกปะยี่ห้อประชานิยมของ “ระบอบทักษิณ” นั้น “30 บาท” เป็นเพียงนโยบายเดียวที่อยู่ยงคงกระพัน จะเปลี่ยนกี่รัฐบาลก็ทำได้แค่ “เปลี่ยนชื่อ” เท่านั้น

ปรัชญาหลักของ “30 บาท” คือ ประชาชนทุกคนต้องมีหลักประกันเพื่อรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วย และต้องไม่ล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลนั้นยังคงเดิมเสมอมา

แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เคยออกมาโวยวายว่าโครงการ 30 บาท เป็นประชานิยม ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนและเปลืองงบประมาณนั้น เมื่อถึงเวลาต้องขึ้นกล่าวในที่ประชุมนานาชาติ ก็ยังต้องเอาโครงการนี้ไปโฆษณาเป็นผลงาน

กลายเป็นว่า ทุกๆ ครั้งที่มีการประชุมสหประชาชาติ ไทยสามารถเอาไปขายได้ว่า “หลักประกันสุขภาพ” คือความสำเร็จของรัฐในการดูแลประชาชน โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไร

แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ความเปลี่ยนแปลงของ “30 บาท” หลังผ่านมานานกว่า 10 ปีนั้น ได้ถูกวิพากษ์ว่าสร้างปัญหาให้คนในระบบสุขภาพด้วยเช่นกัน

เป็นต้นว่า เงินในโครงการที่ต้องพอกพูนเพิ่มขึ้นทุกปีจากการเพิ่มสิทธิประโยชน์หรือชุดข้อมูลที่ว่าด้วยการบริหารจัดการ ซึ่งอาจทำให้โรงพยาบาลรัฐประสบปัญหาแบบที่คุณประยุทธ์พูดก็ถูกพูดถึงมากทั้งในและนอกวงการแพทย์

มีไอเดียในการ “ปฏิรูป” เกิดขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นการให้ประชาชนร่วมออกสตางค์ หรือกระทั่งการโอนเงินทั้งหมดกลับไปให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้บริหารงบบัตรทองด้วยตัวเอง แทนที่จะแยกผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการอย่างทุกวันนี้

แต่วงการหมอก็ยังเป็นวงการหมอ ทุกครั้งที่มีข้อเสนออะไรออกมาจะต้องมี “วิวาทะ” กันเสมอ แต่ในระบบสุขภาพนั้นดีอย่างหนึ่งคือมี “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ระดับหัวกะทิจำนวนมากเข้ามาช่วยกันหาทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับประชาชน

แน่นอนวิวาทะเรื่องการปฏิรูป “30 บาท” จะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องต่อไป แต่หลักการสำคัญที่คงอยู่ก็คือ โครงการนี้ไม่สามารถล้มเลิกได้ หากใครจะจัดการทำหมันกองทุน ก็หมายถึงเจ๊งกับเจ๊งเท่านั้น

และหากใครจะโจมตีว่าเป็น “ประชานิยม” ก็ไม่อาจพูดได้เต็มปาก เพราะเป็นตัวอย่างที่ทั่วโลกจับตามองในฐานะประเทศ “ต้นแบบ”

ฉะนั้น หากต้องการให้โลโก้ทักษิณหายไปก็มีเพียงทางเดียว คือทำโครงการนี้ให้ “ดียิ่งขึ้น” มากกว่าจะประณามว่าเป็นประชานิยมฟุ่มเฟือยแบบที่ผ่านมา

ส่วนจะทำอย่างไรนั้น คำตอบยังอยู่ในสายลม...