posttoday

ไม่มีวันยอมรับ

14 ธันวาคม 2558

ประเด็นการออกแบบองค์กรดับวิกฤตทางการเมือง ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือกันอีกครั้งหนึ่งว่า ควรจะกำหนดรูปแบบออกมาอย่างไร

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

ประเด็นการออกแบบองค์กรดับวิกฤตทางการเมือง ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือกันอีกครั้งหนึ่งว่า ควรจะกำหนดรูปแบบออกมาอย่างไร

ก่อนอื่นสำรวจ “ธง” ของแต่ละฝ่ายกันดูก่อน เริ่มจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ส่งสัญญาณมาตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณและคณะ ว่าสมควรมีองค์กรใดองค์กรหนึ่งขึ้นมาสยบศึกความรุนแรงทางการเมือง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยกำลังทหารเข้ามาคลี่คลาย กล่าวได้ว่า ไม่ต้องการให้มีการยึดอำนาจซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ในที่สุด กรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดนั้น จึงได้เสนอให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ หรือ คปป. ซึ่งฝ่ายการเมืองออกมาโวยทันควัน เป็นพูลิตพูโลบ้าง เป็นองค์กรซ่อนรูปให้ทหารเข้ามาบริหารสืบทอดอำนาจต่อไป และที่สำคัญการตั้งองค์กร คปป. ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญในที่สุด

เมื่อคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ เข้ามาร่าง รธน.กันใหม่ คสช.ยังเห็นว่า ควรมีกลไกในการคลี่คลายวิกฤตทางการเมือง ซึ่ง กรธ.ชุดมีชัยหาทางปรับเปลี่ยนรูปแบบ โดยเสนอให้ประธานสามศาล ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด เข้ามาร่วมโต๊ะแก้วิกฤตแทน 

ปรากฏว่า ซุ่มเสียงจากแกนนำมวลมหาประชาชน เช่น เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สนับสนุนให้มีกลไกคลี่คลายวิกฤต ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นแบบ คปป.เสียทีเดียวก็ได้ ซึ่งดูสอดรับกับ คสช. ขณะที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ไม่ว่าเป็น อำนวย คลังผา อดีต สส.ลพบุรี หรือ วรชัย เหมะ อดีต สส.สมุทรปราการ สามัคคีวาจาไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลทำนองเดียวกันว่า จะมีอำนาจแฝงเข้ามาควบคุมฝ่ายบริหารตามเคย

ทุบโต๊ะ ได้เลย ไม่ว่าจะมีหรือไม่มี คปป. หรือปรับเปลี่ยนให้องค์กรศาลทำหน้าที่แทน นักการเมืองภายใต้ชายคาเพื่อไทยก็ไม่มีวันยอมรับ ครั้นถามหาทางออกลงตัวที่สุดควรเป็นอย่างไรก็ไม่มีคำตอบจากกลุ่มเหล่านี้เช่นกัน