posttoday

ยืดหยุ่น

11 พฤศจิกายน 2558

ติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ภายใต้การนำของท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ เหมือนกำลังชมละครซีรี่ส์ ให้อารมณ์คลาสสิก

โดย...ขำ เคืองใจ [email protected]

ติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ภายใต้การนำของท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ เหมือนกำลังชมละครซีรี่ส์ ให้อารมณ์คลาสสิก

ยิ่งในตอนว่าด้วยกติกาผู้เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง ในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะว่ายากก็ไม่เชิง จะว่าง่ายก็ไม่ใช่

เดิมประเมินว่า หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งถูกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โหวตคว่ำ เมื่อได้อาจารย์มีชัยนั่งเป็นประธาน กรธ. การร่างรัฐธรรมนูญคงหนักหน่วงกว่าหลายเท่าตัว

อย่างของอาจารย์บวรศักดิ์ เล่นบทโหดชนิดที่เป็นจุดอ่อนให้นักประชาธิปไตยถล่ม ดั่งตัวอย่าง การกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) มีอำนาจควบคุมการบริหารรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งอีกที

แต่เมื่ออาจารย์มีชัยและคณะร่างรัฐธรรมนูญไปได้สักระยะ ทำให้เห็นว่าเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญผิดความคาดหมายชนิดหักปากกาเซียนการเมือง  ลีลาการร่างรัฐธรรมนูญของอาจารย์มีชัยและคณะ มีทั้งบทเข้มและผ่อนคลายยืดหยุ่น

อย่างระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยนำทุกคะแนนที่ประชาชนลงให้ผู้สมัคร สส.ทุกเขตมานับ  จากนั้นมาคำนวณสัดส่วนว่าแต่ละพรรคการเมืองได้รับคะแนนความนิยมจากประชาชนเท่าไหร่ ก่อนจะมากำหนดจำนวน สส.ต่อไป 

แน่นอนนักการเมืองพรรคใหญ่โวยทันควัน ขัดหลักประชาธิปไตยบ้างล่ะ ให้ความสำคัญกับคะแนนผู้แพ้บ้างล่ะ ลื่นไหลไปถึงขั้น “นี่เป็นวิธีการเพื่อรองรับนายกฯ คนนอก”

อั๊ยยะ! ไม่เข้าใจเหมือนกันว่านักการเมืองท่านนั้นมโนไปไกลขนาดนั้นได้อย่างไร เพราะจนถึงป่านนี้ กรธ.ยังพิจารณาไม่ถึงประเด็นที่มานายกฯ ด้วยซ้ำ 

หันมาฟังคำอธิบายจากอาจารย์มีชัยดูบ้าง ท่านอธิบายว่า “วิธีนี้ทุกคะแนนจะมีความหมายหมด มีคนพูดว่าระบบการเลือกตั้งแบบนี้จะทำให้พรรคทั้งพรรคอ่อนแอ แต่ผมคิดว่าพรรคการเมืองจะยิ่งเข้มแข็งขึ้น เพราะทั้งพรรคและคนที่ไปลงสมัครจะต้องไปด้วยกัน ที่สำคัญคือ เสียงที่เคยพูดกันว่าพรรคเราได้รับความนิยมมาก ส่งคนขับรถหรือเสาโทรเลขไปลงสมัครก็ได้รับการเลือกตั้ง ถ้าใช้ระบบการเลือกตั้งนี้เราก็จะไม่ได้ยินเสียงเหล่านี้อีก”

ตอกกลับด้วยเหตุุผลแบบนี้ นักเลือกตั้งหงายเงิบสิครับ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมามักได้ยินคำกล่าวของนักการเมืองว่า “ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ยึดโยงประชาชน” จำกันได้มั้ยกับประโยคนี้ ที่นำมาชูโรงคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับอาจารย์บวรศักดิ์ นั่นล่ะครับ

ไม่เพียงเท่านั้น กรธ.ยังเปิดโอกาสให้ผู้เคยถูกถอดถอนจากตำแหน่งทางการเมืองลงสมัครได้ แต่ต้องไม่ใช่เกิดจากความผิดทุจริตคอร์รัปชั่น หรือแม้แต่ความพยายามตั้งองค์กรคล้าย คปป. ซึ่งมีแนวโน้มจะปรับเรื่องอำนาจครอบจักรวาล

ยืดหยุ่นผ่อนคลายให้ซะขนาดนี้ ยังว่าโหดเกิ๊นอยู่อีกหรือครับ