posttoday

คนไม่เอาถ่าน?

24 กรกฎาคม 2558

e-ช้าน...เห็นอาการ “คนไม่เอาถ่าน” ในสังคมเรามีมากขึ้นเรื่อยๆ

โดย...e-ช้าน [email protected]

e-ช้าน...เห็นอาการ “คนไม่เอาถ่าน” ในสังคมเรามีมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากคนกระบี่และชุมนุมภาคใต้เริ่มก่อตัวเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ จ.กระบี่

คนกลุ่มแรกอยู่ในระดับชนชั้นนำของสังคม พวกนี้ถูกฝังความเชื่อว่าถ้าไม่มีการลงทุนประเทศจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจจะไม่โต ผู้คนจะอดอยาก คนพวกนี้มีชีวิตผูกติดอยู่กับวาทกรรมการพัฒนาตกยุค ใครโต้แย้งความคิดพวกนี้จะถูกมองเป็นพวกล้าหลัง

อีกกลุ่มเป็นพวกคัดค้านทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพราะเชื่อว่าการลงทุนจะทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตท้องถิ่น ซึ่งเป็นฐานรากที่มี “มูลค่า” มากกว่าดอกผลจากการลงทุน จึงสนับสนุนแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน เปิดทางให้ประชาชนกำหนดชะตากรรมของตัวเอง แต่ก็มักถูกกระแนะกระแหนว่าเป็นพวกขัดขวางการพัฒนาเสียทุกเรื่อง

ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน 2 คน ยอมอดอาหารประท้วงเพราะเห็นว่า “กระบี่” มีคุณค่าเกินกว่าจะยกพื้นที่ริมหาดไปสร้างโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะข้ออ้างความมั่นคงด้านพลังงานนั้นฟังไม่ขึ้น

คำอธิบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่า ปัจจุบันภาคใต้มีไฟฟ้าใช้เพียง 800 เมกะวัตต์ แต่ปริมาณความต้องการใช้สูงถึง 3,000 เมกะวัตต์ ถ้าไม่สร้างจะไม่มีไฟฟ้าใช้และค่าไฟจะสูงกว่าภาคอื่น ทั้งยังแนะนำให้ไปดูตัวอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง ว่าไม่มีมลภาวะ

“เอาสิเลือกเอา ผมพร้อมทำทุกอย่าง แต่อย่ามาร้องว่าไม่มีไฟฟ้าใช้แล้วกัน” จบคำอธิบายเชิงท้าทายแล้วท่านยังข่มขู่ว่าในเดือน ส.ค.นี้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จะมีผลบังคับใช้...หมายความถ้าไม่เลิกชุมนุมจะถูกดำเนินคดี

ฟังแล้วก็ตีความกันเอาเองว่าวิสัยทัศน์ท่านผู้นำเป็นแบบใด แต่ e-ช้าน...จะบอกว่า ตามแผน PDP 2015 เป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้ามากกว่าแผนเดิมถึง 5,134 เมกะวัตต์ มากกว่าการใช้ไฟฟ้าภาคใต้ถึง 2 เท่า ซึ่งปัจจุบันภาคใต้มีกำลังผลิตไฟอยู่ที่ 2,881 เมกะวัตต์

จากตัวเลขกำลังการผลิตไฟสำรองล้นเกิน แต่ยังผลักดันสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ และ อ.เทพา จ.สงขลา ถึง 2,800 เมกะวัตต์ คิดเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากรัฐบาลชุดนี้จะยกภาคใต้ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม ซึ่งในทางภูมิศาสตร์ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

สำหรับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ท่านนายกฯ ไม่ต้องให้ใครไปดู ศาลปกครองเชียงใหม่ได้ตัดสินให้ชาวแม่เมาะชนะคดี เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังฟ้องร้องต่อสู้กันถึง 11 ปี ศาลให้ กฟผ.ชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จนล้มป่วยและเสียชีวิต รวม 131 ราย

คำสั่งศาลเป็นการตอกย้ำว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินได้สร้าง “หายนะ” ให้คนท้องถิ่นแบบเต็มๆ การผลักดันโรงไฟฟ้ากระบี่จึงเป็นการเดินหน้าสร้าง “เมืองหายนะ” แห่งที่ 2 เป็นมรดกบนชายฝั่งอันดามัน

ยังมีพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกอื่นๆ อีก อย่าผลักทุกข์ให้คนกลุ่มหนึ่ง เพียงเพื่อให้คนที่เหลือได้มีลมหายใจ...มันไม่แฟร์