posttoday

อย่าให้เสียของ

02 กรกฎาคม 2558

หากจะบอกว่าสภาพสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เวลานี้เป็นอย่างไร

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

หากจะบอกว่าสภาพสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เวลานี้เป็นอย่างไร ต้องบอกว่าอยู่ในสภาพนับถอยหลังรออำลา เพราะเมื่อ สปช.ลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญเวอร์ชั่นสุดท้ายที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำแล้วเสร็จในช่วงเดือน ก.ย.เมื่อไหร่ สปช.ต้องถูกยุบ เปิดทางให้นายกรัฐมนตรีตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศขึ้นมาแทน

แม้ สปช.จะรู้ตัวว่าเวลาการทำงานของตัวเองเหลืออีกไม่มาก แต่ก็เตรียมฝากผลงานจารึกแผ่นดินเอาไว้ด้วยการพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศชุดใหญ่ ซึ่งตามกำหนดการ สปช.จะส่งให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เกินวันที่ 22 ส.ค.

พิมพ์เขียวของ สปช.จะเน้นการปฏิรูป 7 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1.ปฏิรูปกลไกภาครัฐ การบริหารราชการแผ่นดิน 2.ปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 3.ปฏิรูปการมีกฎหมายและใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ในเรื่องกิจการตำรวจ 4.ปฏิรูประบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม 5.ปฏิรูปกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น 6.ปฏิรูประบบรองรับอนาคตประเทศไทย และ 7.ปฏิรูปเพื่อสร้างคนไทยยุคใหม่

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการปฏิรูปในเชิงรูปธรรมไม่ได้อยู่ที่รูปร่างหน้าตาของข้อเสนอจาก สปช.เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัญหาในเชิงปฏิบัติที่ต้องอาศัยกำลังภายในของฝ่ายบริหารด้วย เพื่อให้การปฏิรูปประเทศประสบผลสำเร็จ

กล่าวคือ ในอดีตที่ผ่านมารัฐบาลหลายชุดเคยสร้างกลไกการปฏิรูปผ่านรูปแบบของคณะกรรมการศึกษาเรื่องโน้นเรื่องนี้เต็มไปหมด แต่พอมีข้อเสนอออกมาอย่างเป็นทางการ ปรากฏว่ารัฐบาลกลับไม่ค่อยให้ความสนใจกับข้อเสนอของคณะกรรมการที่ตัวเองตั้งขึ้นมาเท่าไหร่ หรือเรียกได้ว่าลิ้นชักที่ทำเนียบรัฐบาลเต็มไปด้วยเอกสารรายงานเหล่านี้

ดังนั้น หากรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำเหมือนกับรัฐบาลในอดีตอีก ก็ทุบโต๊ะได้เลยว่าการลงทุนลงแรงรัฐประหารที่ผ่านมาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คงเสียของ จึงได้แต่หวังว่าบทเรียนที่ผ่านมามีให้เห็นแล้วและจะไม่ซ้ำรอยอีก