posttoday

ปฏิรูปการเมืองเหลว

21 พฤษภาคม 2558

หลังจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญคลอดร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก

โดย...เจษฎา จี้สละ

หลังจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญคลอดร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก กระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่โจมตีไปยังร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเสียงวิจารณ์จากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พรรคการเมือง และภาคประชาสังคม คือเรื่องโครงสร้างระบบการเมือง ที่ดูเหมือนจะปฏิรูปแต่ไม่ปฏิรูป

เริ่มจากการวิเคราะห์ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ซึ่งมีจุดเด่น คือ 1.สร้างความสอดคล้องระหว่างเสียงของประชาชนและจำนวนที่นั่งของ สส.ในสภา และ 2.เปิดโอกาสให้พรรคลำดับรองหรือพรรคขนาดเล็กมีเก้าอี้ในสภามากขึ้น หรือในทางหนึ่งคือการเปิดโอกาสให้เกิดรัฐบาลผสม นอกจากนั้นคณะ กมธ.ยกร่างฯ ยังได้กำหนดให้มี “กลุ่มการเมือง” ที่สามารถส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง

ขณะที่โครงสร้างของคณะรัฐมนตรี คณะ กมธ.ยกร่างฯ มีปัญหาสำคัญอยู่ที่มาตรา 181 และมาตรา 182 เปิดช่องให้นายกฯ สามารถผ่านกฎหมายที่ไม่ต้องขอความเห็นชอบจากสภา และให้เครื่องมือนายกฯ ในการเลี่ยงการอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายค้าน แม้เจตนาจะต้องการลบจุดอ่อนของรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ โดยเพิ่มเครื่องมือในการผ่านกฎหมาย แต่เป็นการแก้ปัญหาแบบผิดฝา-ผิดตัว

ชนวนเหล่านี้กลายเป็นที่มาของความล้มเหลว คือ 1.เลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ไม่สามารถป้องกันเสียงข้างมากเด็ดขาดในรัฐสภา เพราะพรรคใหญ่ยังสามารถจับมือกับพรรคเล็ก-กลุ่มการเมือง คุมเสียงข้างมากเด็ดขาด 2.ฝ่ายบริหารยังสามารถแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ 3.ไม่ยกระดับพรรคให้เป็นสถาบันทางการเมือง แต่ลดความเข้มแข็งของพรรคแทน และ 4.รัฐบาลอ่อนแอเพราะการต่อรองจากพรรคร่วมเพิ่มขึ้น ในขณะที่ขาดระบบตรวจสอบการใช้อำนาจที่เข้มแข็ง... ปมปัญหายังมีอยู่ เช่น ก่อนการปฏิรูป

เพียงจุดเสี่ยงในระบบรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ยังมินับรวมกลไกอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบเมือง ทุบโต๊ะเลยว่า การปฏิรูปการเมืองล้มเหลว เพราะการมีกลไกของระบบรัฐสภาและคณะรัฐมนตรียังผิดรูปผิดรอย ใช้ยาผิดโรค-แก้ปัญหาไม่ตรงจุด สุดท้ายก็ล้มเหลวเหมือนเดิม