posttoday

ปรับพรบ.กองทุนแบงก์รัฐ สะเทือนแบงก์พาณิชย์

11 กุมภาพันธ์ 2558

ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือที่เรียกกันติดปากว่า กองทุนแบงก์รัฐ

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือที่เรียกกันติดปากว่า กองทุนแบงก์รัฐ ถือเป็นเรื่องที่เข้าทางกระทรวงการคลัง รวมถึงแบงก์รัฐ แต่อาจจะกระทบกับธนาคารพาณิชย์ ที่ทุกวันนี้มองว่าแบงก์รัฐเป็นคู่แข่งแย่งเงินฝากและปล่อยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ไปจำนวนไม่น้อย

ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ มีอยู่ 2 ข้อที่สำคัญ ข้อแรกคือ เมื่อกองทุนแบงก์รัฐมีเงินมากเพียงพอ ก็ให้ใช้อำนาจรัฐมนตรีคลังนำเงินส่วนเกินหรือส่วนที่ไม่จำเป็นส่งเข้ากระทรวงการคลังได้ จากเดิมไม่ได้เขียนไว้ในร่างกฎหมาย

และข้อที่สอง คณะกรรมาธิการมองว่า แบงก์รัฐระดมเงินฝากจากรายย่อยเป็นหลัก ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ หากกองทุนมีเงินเพียงพอแล้ว ให้รัฐมนตรีคลังโดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับลดอัตราเงินนำส่งได้

ทั้งนี้ หากจะพิจารณาว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวทำให้แบงก์รัฐได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไร เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ ต้องย้อนไปดูที่มาที่ไปของกองทุนนี้เสียก่อน

สำหรับกองทุนแบงก์รัฐเกิดขึ้นเพราะอุบัติเหตุก็ว่าได้ เพราะในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องการโอนภาระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ FIDF ที่ยังค้างอยู่ 1.1 ล้านล้านบาท ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับผิดชอบ โดยให้ ธปท.เก็บค่าธรรมเนียมเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์มาใช้จนกว่าจะหมด ทำให้ลดภาระงบประมาณที่ต้องตั้งชำระหนี้ปีละถึง 7-8 หมื่นล้านบาท และเป็นช่องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์นำเงินไปทำโครงการประชานิยม โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว

เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ธนาคารพาณิชย์ได้ที บีบรัฐบาลให้เก็บเงินกองทุนจากแบงก์รัฐด้วย โดยอ้างว่าที่ผ่านมาแบงก์รัฐโดยเฉพาะธนาคารออมสินแย่งเงินฝากและสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์เป็นจำนวนมาก เพราะได้เปรียบเรื่องต้นทุนดอกเบี้ย เนื่องจากไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเงินฝากเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝาก 0.4% เหมือนธนาคารพาณิชย์ สินเชื่อก็ปล่อยในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์

ในที่สุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ยอมตามข้อเสนอของธนาคารพาณิชย์ โดยให้ธนาคารพาณิชย์ส่งค่าธรรมเนียมเงินฝากให้ ธปท.ในอัตรา 0.46% และลดเงินนำส่งให้กับสถาบันคุ้มครองเงินฝากเหลือ 0.01% จากที่เคยส่งอยู่ 0.4%

ขณะเดียวกันก็ให้เก็บค่าธรรมเนียมเงินฝากแบงก์รัฐ 4 แห่ง ได้แก่  ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศ (ไอแบงก์) ในอัตรา 0.47% เข้ากองทุนที่จัดตั้งขึ้น คือ กองทุนเพื่อพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพแบงก์รัฐ หรือกองทุนแบงก์รัฐ (อีกกองหนึ่ง) จุดประสงค์เพื่อนำเงินไปพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพแบงก์รัฐ เช่น การเพิ่มทุนให้โดยไม่ต้องเป็นภาระงบประมาณ และยังเปิดให้กองทุนแบงก์รัฐปล่อยกู้กับ FIDF เพื่อนำไปดูแลความเข้มแข็งของสถาบันการเงิน

จะเห็นว่าที่มาของการตั้งกองทุนแบงก์รัฐ เป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสของธนาคารพาณิชย์ จากเดิมที่คาดว่าจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเงินฝากเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะเดิมก็ต้องนำส่งเงินให้ทั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากไว้ดูแลผู้ฝากเงินยามที่ธนาคารพาณิชย์มีปัญหา และยังต้องส่งเพิ่มให้กับ ธปท.เพื่อไปใช้หนี้ FIDF อีก แต่เมื่อตั้งกองทุนแบงก์รัฐขึ้น ธนาคารพาณิชย์ก็จ่ายสมทบเพียง 0.07% ของเงินฝากเท่านั้น

แต่ที่มีภาระเพิ่มขึ้นคือแบงก์รัฐ ที่ต้องเสีย 0.47% เต็มๆ ส่งผลให้ต้นทุนแบงก์รัฐเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่ธนาคารรัฐอย่างธนาคารออมสินมีหน้าที่ระดมเงินฝากจากรายย่อย และให้บริการประชาชนฐานราก ทำให้ต้องบุกไปตั้งสาขาในถิ่นทุรกันดาร รวมทั้งต้องปล่อยสินเชื่อตามนโยบายรัฐจำนวนไม่น้อย ซึ่งกำไรน้อยแต่ความเสี่ยงสูง สินเชื่อบางประเภทธนาคารพาณิชย์ไม่อยากปล่อยกู้ด้วยซ้ำ ต้นทุนของธนาคารออมสินจึงสูง แต่ธนาคารพาณิชย์ไม่เคยพูดถึง

ฉะนั้น ถ้ากองทุนแบงก์รัฐยังเป็นสูตรเดิม ก็จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ได้เปรียบแบงก์รัฐ เพราะแบงก์รัฐมีภาระต้นทุนในการดำเนินการมากขึ้น

แต่หากกองทุนแบงก์รัฐออกมาตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการที่ให้ส่งเงินส่วนเกินเข้าคลัง หรือลดอัตรานำส่งเงินเข้ากองทุนให้น้อยลง คลังก็น่าจะเห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะไม่ต้องการให้กองทุนนี้มีเงินมากเกินจำเป็น เพราะจะเป็นช่องให้นักการเมืองเข้ามาล้วงไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์และเกิดความเสียหายตามมาภายหลัง

อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปตามแนวทางนี้ เชื่อว่าไม่นานจะได้ยินเสียงค้าน เสียงต่อว่า จากธนาคารพาณิชย์ เพราะทำให้ธนาคารพาณิชย์เสียเปรียบแบงก์รัฐอย่างที่เคยกล่าวอ้างมาก่อนหน้านี้