posttoday

มนุษย์เงินเดือน ออมทีละนิดก็รวยได้

08 กุมภาพันธ์ 2558

มุมมองจากเวทีเสวนาในงาน "มหกรรมทำเงินให้งอกเงย" โพสต์ทูเดย์ กับการวางแผนการเงินสู่ความมั่งคั่งของมนุษย์เงินเดือน

มุมมองจากเวทีเสวนาในงาน "มหกรรมทำเงินให้งอกเงย" โพสต์ทูเดย์ กับการวางแผนการเงินสู่ความมั่งคั่งของมนุษย์เงินเดือน

อย่าเพิ่งดูถูกว่า “มนุษย์เงินเดือน” รวยไม่ได้ ปัจจุบันหวังการมีเงินล้านอาจไม่ยากอย่างที่คิด เพราะงานสัมมนาครบรอบ 12 ปี นสพ.โพสต์ทูเดย์ “งานมหกรรมทำเงินให้งอกเงย” ได้เชิญบุคคลที่ประสบความสำเร็จจากการเก็บเล็กผสมน้อย มาบอกเล่าประสบการณ์ในหัวข้อ “มีเงินน้อย ออมจากร้อย รวยเป็นล้าน”

“กวิน สุวรรณตระกูล” เจ้าของอีบุ๊ก เรื่อง ออมหุ้น ออม ความสุข มีเงินเดือนเริ่มต้น 2 หมื่นบาท คิดว่าเฉลี่ยเงินเดือนขึ้นปีละ 6% คนเรามีอายุการทำงานทั้งหมด 38 ปี เมื่อคูณกับจำนวนปีที่เหลือจากการทำงานในอัตราที่เงินเดือนขึ้นไปเรื่อยๆ ต้องใช้เงินประมาณ 13 ล้านบาท รู้สึกว่าเห็นอนาคตยาก จึงเริ่มเปลี่ยนเงินหรือรายจ่ายให้เป็นการออมก่อน โดยเริ่มจากการลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ก่อน พร้อมกับศึกษาเรื่องหุ้น

จากนั้นแบ่งเงินออมที่มีไว้สำรองฉุกเฉินและเริ่มซื้อหุ้นเฉลี่ยเดือนละ 5,000 บาท จากเงินเดือนทั้งหมด 2 หมื่นบาท โดยไม่สนใจราคาเฉลี่ย จากนั้นรายรับจากการลงทุนจะมีมากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ชอบออมแล้วนำเงินก้อนกระโจนเข้าไปในหุ้นทีเดียว ซึ่งก็เจ็บตัวเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเริ่มต้นออมหุ้นเดือนละ 1,000 บาท ผ่านไป 10 ปี มูลค่าพอร์ตจะอยู่ที่ 7.62 แสนบาท จากเงินต้น 1.21 แสนบาท หรือผลตอบแทนสูง 530% หรือเป็นกองทุน มูลค่าพอร์ต 2.88 แสนบาท จากเงินต้น 1.2 แสนบาท หรือให้ผลตอบแทน 140%

หัวใจสำคัญ คือ การเปลี่ยนมุมมองการลงทุน (Mind Set) ว่า ควรจะมีความสุขทั้งยามที่หุ้นขึ้นหรือหุ้นลง เพราะเรามีการลงทุนแบบเฉลี่ย และควรเลือกหุ้นปัจจัยพื้นฐาน โดยลงลึกไปดูถึงโมเดลธุรกิจเขาว่ามีการเติบโตที่ต่อเนื่องทุกปี มีกำไรก็นำเงินไปขยายการลงทุน กำไรก็จะโตไปเรื่อยๆ มีกระแสเงินสดหมุนเวียนมากขึ้น สินทรัพย์เพิ่มขึ้น ผู้ถือหุ้นก็จะรวยขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีพอร์ตหุ้น 70% มีเพียง 3-5 ตัวเท่านั้น อีก 20% เป็นกองทุน ที่เหลือเป็นประกันชีวิต จะเห็นว่า ผมเริ่มจากออมก่อน จากนั้นเพิ่มเงินออม และค่อยเปลี่ยนเงินออมเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงขึ้นเป็นลำดับ และวันนี้มีอิสรภาพทางการเงินได้ แต่ก็ยังทำงานหาเงินจากหลายแหล่งมากเช่นเดิม เพราะรู้สึกสนุกกับการทำงานและหาเงิน

“อัญพัชร์ ทรัพย์ยืนยง” มนุษย์เงินเดือนผู้ชื่นชอบการลงทุนคอนโดมิเนียม เริ่มนึกถึงอนาคตตัวเองหลังเกษียณจะเป็นอย่างไร อย่างพ่อแม่เป็นข้าราชการก็มีเงินเลี้ยงดู จนทำอะไรที่นอกเหนือจากงานประจำมามาก แต่รู้สึกว่าก็ยังไม่สามารถรองรับการเกษียณได้ และเห็นว่าคนรวยเขาลงทุนหุ้นกับคอนโดมิเนียมกัน จึงเลือกสิ่งที่เหมาะกับบุคลิกตัวเอง คือ ชอบพูดคุย ออกข้างนอก หาข้อมูลซอกแซก

ดังนั้น จึงหันมาลงทุนแบบที่ชอบ คือ เลือกลงทุนคอนโดมิเนียม เพราะหุ้นส่วนใหญ่คือนั่งติดกับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นหลัก สิ่งสำคัญ คือ การหาความรู้ก่อนเพราะจะช่วยกำจัดความกลัว โดยเฉพาะการกลัวเป็นหนี้ก็จะทำให้ไม่เกิดความกล้าลงทุน เมื่อศึกษามาเต็มที่จึงตัดสินลงทุนซื้อคอนโดมิเนียมมือสองด้วยเงินก้อนแรก 2.4 แสนบาท และนำไปปล่อยให้เช่าได้ผลตอบแทน 10% สิ่งสำคัญ คือ ทำเลต้องดี และต้องขยันลงสำรวจพื้นที่เอง

มนุษย์เงินเดือนมีข้อดีตรงที่มีสลิปเงินเดือนไปต่อยอดการลงทุนจากการขอกู้เงินไปซื้อคอนโดมิเนียมได้ เพราะอย่างน้อยเราจะได้มูลค่าสินทรัพย์ที่ปกติจะเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 5% ขณะที่พยายามประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ เช่น ถ้าโสดก็ควรรวมตัวเช่าอพาร์ตเมนต์กับเพื่อนไปก่อน

“การลงทุนคอนโด เหมือนได้ฝึกการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อมีความมั่นใจ ส่งผลให้กล้าไปลงทุนขนาดใหญ่ขึ้น คือ ที่ดิน จนปัจจุบันมีคอนโดให้เช่าทั้งหมด 12 แห่ง ภายในเวลา 3 ปี หรือพอร์ตลงทุนโดยรวมเติบโตขึ้น 80% และรายได้ค่าเช่าที่ได้รับปัจจุบันก็มากกว่าเงินเดือนประจำ แต่ก็ยังไม่ลาออกจากงาน”

หลักเลือกคอนโดมิเนียมมือสอง ต้องอยู่ไม่ไกลเกิน 5 กิโลเมตร จาก 3 แหล่งนี้ คือ ต้องใกล้ที่ทำงานของคนทั่วไป (Work) แหล่งชุมชนหรือใกล้แหล่งช็อปปิ้ง (Play) และแหล่งที่เหมาะสมเป็นที่อยู่อาศัยมีคนอาศัยอยู่มากประมาณ 80% (Stay) รวมถึงหากราคาต่ำกว่าราคาประเมิน 20% จะรีบตัดสินใจทันที

สิ่งที่เธออยากให้แง่คิด คือ ถ้ามนุษย์เงินเดือนมี 3 หลัก คงเห็นโอกาสรวยไม่ยาก คือ “หาเงินเก่ง” คือมีอาชีพอื่นเสริม เพราะถือว่ามีหลายกระเป๋าดีกว่าหาเงินจากแหล่งเดียว “เก็บเงินอยู่” และ “บริหารเงินเป็น” เพียงเท่านี้เงินเดือนที่ไม่มากแต่เราก็สามารถมีเงินเป็นหลัก 10 ล้านบาท 100 ล้านบาทได้

“อนุพงศ์ ชัยยะราษฎร์” นักลงทุนที่เน้นอิสรภาพทางการเงิน ที่เริ่มคิดลงทุนหลังจากอ่านหนังสือพ่อรวยสอนลูก เริ่มต้นจากเงินเดือน 1 หมื่นบาท และพยายามเพิ่มรายได้จากการเพิ่มประสิทธิภาพจากการทำงานให้มากที่สุด เก็บออมถึง 40% ของเงินเดือน และเริ่มลงทุนปีแรกหุ้น ปีที่ 2 จากกองทุนรวมที่เริ่มจากการใช้สิทธิลดหย่อนทางภาษี LTF เต็มจำนวน ก่อนขยายไปกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

และตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป เขาเน้นการลงทุนคอนโดมิเนียม โดยพยายามกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์มาลงทุนแทน เพราะจะทำให้เราได้ส่วนต่างดอกเบี้ยจากการขอกู้ เริ่มกู้เงิน 100% จากคอนโดมิเนียมราคา 1.8 ล้านบาท และได้ราคาค่าเช่าเป็นรายได้เดือนกลับมา 1.4 หมื่นบาท/เดือน หรือ 9% จนในที่สุดสามารถมีเงิน 1 ล้านบาท ครั้งแรกภายในเวลา 6 ปี แต่พอล้านที่ 2 แค่เพียง 2 ปีเท่านั้น คือใช้เวลาสั้นกว่า

“อนุพงศ์” เล่าว่า เขาให้ความสำคัญการลงทุนดูจากผลตอบแทนที่ได้และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งถ้ามนุษย์เงินเดือนทั่วไปต้องการเริ่มลงทุน อาจจะเริ่มกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ (Fix Income) ซึ่งบางประเภทให้ผลตอบแทน 4-6% และไม่ต้องเสียภาษีเหมือนดอกเบี้ยที่ได้จากออมทรัพย์จากธนาคารพาณิชย์ที่เสียภาษี 15% แม้กองทุนรวมกว่าจะได้เงินต้องรอ 1-2 วันก็ตาม หรือลงทุนในกองทุนน้ำมันสลับกับกองทุนทอง เช่น เมื่อราคาทองลดลงก็เข้าซื้อเพราะจะได้ต้นทุนที่ถูก เพราะถึงอย่างไรมองว่าราคาทองมีมูลค่าในตัวเองอยู่แล้ว และถ้าเมื่อราคาน้ำมันตกก็ขายและผันไปลงทุนในกองทุนน้ำมันแทน

“หลักการลงทุนกองทุนรวมผมจะเน้นการตัดบัญชีออมทุกเดือน ส่วนหุ้นจะเก็บเงินออมสะสมไว้แล้วค่อยไปเก็บตอนที่ราคาหุ้นปรับลง ซึ่งมักเลือกหุ้นที่มีความใกล้ชิดข้อมูล อย่างกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และธนาคารพาณิชย์ และถือไว้ 4-5 ตัว

ส่วนคอนโดซื้อมือหนึ่งซึ่งกว่าจะมีการก่อสร้างเสร็จ 2-3 ปี จะเป็นในลักษณะผ่อนดาวน์ไป จากนั้นก็ปล่อยให้เช่า ก็จะนำค่าเช่าไปส่งต่อธนาคารต่ออีก โดยมีหลักเลือกติดรถไฟฟ้าไม่เกิน 500 เมตร อยู่ใจกลางเมือง ถ้าเป็นริมแม่น้ำต้องเห็นวิวแม่น้ำจริงๆ ถ้าไม่เข้าข่าย 3 อย่างนี้จะไม่ซื้อ ขณะที่พยายามปรับพอร์ตความเสี่ยงในทุกสินทรัพย์ให้ไม่มีอะไรมากไปอย่างใดอย่างหนึ่ง

รวมเวลาที่เริ่มลงทุนทั้งหมด 13 ปี ปัจจุบันมูลค่าพอร์ตทั้งหมดมากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป” อนุพงศ์ เล่าทิ้งท้าย

วันนี้เราอาจเห็นความสำเร็จของเขาทั้งสามคน ทว่าเขาผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้ว แต่ทั้งหมดก็พิสูจน์ให้เราได้เห็นแล้วว่า “มนุษย์เงินเดือนก็สามารถรวยได้”