posttoday

ปฏิวัติซ้อนเกิดได้แต่ทำยาก

12 ธันวาคม 2557

การออกมาให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเรื่องการปฏิวัติซ้อนจะเป็นคำเตือนฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ด้วยความหวังดี

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การออกมาให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเรื่องการปฏิวัติซ้อนจะเป็นคำเตือนฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ด้วยความหวังดี หรือจะเป็นการหวังผลทางการเมือง หรือประโยชน์อื่นใดก็ตาม แต่ก็นับว่าสร้างความสั่นสะเทือนให้กับประเทศไทยทั้งในมิติเศรษฐกิจและการเมืองอยู่ไม่น้อย

ผลกระทบทางเศรษฐกิจเห็นได้จากการเทขายหุ้นเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา จนดัชนีปรับตัวลงอย่างรุนแรงและปิดตลาดที่ระดับ 1,575.55 จุด ลดลง 22.21 จุด ซึ่งบรรดากูรูในตลาดซื้อขายหุ้นต่างฟันธงว่าเป็นปรากฏการณ์ที่นักลงทุนตื่นตระหนกกับข่าวรัฐประหารซ้อน  

ส่วนผลกระทบทางการเมืองนั้นมีอยู่บ้าง ดูได้จากบรรดาบิ๊กกองทัพและรัฐบาลต้องออกมาปฏิเสธกันพัลวัน

เริ่มที่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตรผู้บัญชาการทหารบกและ รมช.กลาโหมในฐานะผู้คุมกำลังทหาร ยืนยันว่า “กองทัพอยู่ภายใต้การดูแลของนายกฯ และหัวหน้า คสช.” ต่อด้วย พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยืนยันเสียงเข้มว่าไม่มีทางที่จะมีการปฏิวัติซ้อนได้

สำหรับเหตุการณ์ในลักษณะที่เรียกว่าการรัฐประหารซ้ำเคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศไทย คือ การรัฐประหารล้มรัฐบาลของธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2520 ซึ่งรัฐบาลของธานินทร์เป็นรัฐบาลที่คณะทหารแต่งตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2519 โดยการยึดอำนาจครั้งนั้นคณะทหารอ้างว่ารัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินไม่มีความคืบหน้า

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่เรียกว่าการรัฐประหารตัวเองเกิดขึ้นด้วย เช่น การรัฐประหารเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2494 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี และการยึดอำนาจตัวเองของจอมพลถนอม กิตติขจรเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2514

เว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองของสถาบันพระปกเกล้า (www.kpi.ac.th) อธิบายสาเหตุของการเกิดรัฐประหารตัวเองเมื่อปี 2494 และ 2514ตามลำดับว่า เหตุการณ์ในปี 2494เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492ไม่สามารถทำให้รัฐบาลของจอลพลป. พิบูลสงคราม บริหารราชการแผ่นดินได้สะดวก จนส่งผลให้เกิดปัญหาในดุลยภาพทางการเมืองระหว่างรัฐบาลและรัฐสภา ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ส่วนการรัฐประหารปี 2494มีสาเหตุมาจากการที่จอมพลถนอมไม่สามารถควบคุมปัญหาความขัดแย้งในสภาผู้แทนราษฎรได้

จะเห็นได้ว่าการรัฐประหารซ้ำและซ้อนล้วนเกิดมาจากความขัดแย้งแทบทั้งสิ้น โดยในปี 2557 ประเด็นเรื่องการรัฐประหารซ้อนถูกจุดกระแสเล็กๆ มาแล้วเช่นกันแต่ไม่มีการลงมือเหมือนในอดีต

กระแสการรัฐประหารซ้อนในปีนี้มาจากกรณีที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายารมว.ยุติธรรม พลาดหวังในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเมื่อช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ประกอบกับมีบิ๊กในกองทัพจำนวนไม่น้อยที่ไม่พอใจการสืบทอดเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบกของกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ แต่สุดท้าย พล.อ.ไพบูลย์ ต้องออกมาตัดตอนข่าวลือดังกล่าวด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันต้องถือว่าแม่น้ำ 5 สาย ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังมีความเป็นปึกแผ่นกันอยู่ เนื่องจากการทำงานปฏิรูปประเทศมีความคืบหน้าไปมาก อาจจะมีความเห็นขัดแย้งไปบ้างแต่ก็เป็นเรื่องที่แต่ละฝ่ายสามารถแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างกันได้ เช่นเดียวกับเสถียรภาพภายในกองทัพที่มีความมั่นคงพอสมควร เพราะทหารไม่ได้แสดงออกถึงการแตกแถวไม่พอใจกับการสยายปีกของกลุ่มบูรพาพยัคฆ์

หากจะเกิดการรัฐประหารซ้อนน่าจะมีเหตุผลเดียว คือ การมองประเทศไทยในอนาคตหลังจากหมด คสช.ของทหาร

ถ้าทหารมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถทำให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีได้ ทหารก็อาจกลับกรมกองได้อย่างสบายใจ แต่ถ้าไม่คิดเช่นนั้นก็อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ทหารต้องอยู่
ต่อเพื่อทำงานให้เสร็จ

เพียงแต่การอยู่ต่อนั้นจะมีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีทำงานต่อไป หรือลงมือรัฐประหารซ้อนเพื่อเพิ่มอำนาจหรือเปลี่ยนตัวนายกฯ คนใหม่