posttoday

ทำเพื่อเจ๊ง

16 กันยายน 2557

แอร์พอร์ตลิงค์น่าจะถูกจัดอันดับให้เป็นอภิโครงการมากปัญหา

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

แอร์พอร์ตลิงค์น่าจะถูกจัดอันดับให้เป็นอภิโครงการมากปัญหา

ล่าสุดถึงขั้นอาจต้องหยุดให้บริการ เนื่องจากรถไฟฟ้าทั้ง 9 ขบวน ครบกำหนดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ แต่ไม่ได้สั่งซื้ออะไหล่สำรองล่วงหน้าจากผู้ผลิต

ทางแก้ก็คือต้องไปหาอะไหล่สำรองจากอังกฤษ หรือไม่ก็ต้องหยุดบริการอย่างน้อย 1 ปี

ปัญหาทั้งปวงเป็นสภาพดินพอกหางหมู ต้นตอมาจากการขาดทุน ทำให้ขาดสภาพคล่อง ลามถึงการบริหารจัดการ ฯลฯ

แอร์พอร์ตลิงค์จึงเป็นอนุสรณ์แห่งความฉ้อฉลในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐ

เป็นโครงการที่ทำไป ชิมไป เช็ดปากไปก็คงไม่ผิดนัก

และวิธีจะผลักดันการก่อสร้างโครงการแบบนี้ก็ไม่ยากนัก โดยต้องทำโครงการให้ดูดี

เริ่มตั้งแต่ การปั้นโครงการ โดยใส่ระบบต่างๆ ไว้ถึง 3 ระบบด้วยกัน

ระบบที่ 1 เป็นรถไฟฟ้าด่วน (Express Line) เพื่อขนผู้โดยสารเข้าออกสนามบิน โดยใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 15 นาที จากสนามบินสุวรรณภูมิมายังสถานีมักกะสัน

ระบบที่ 2 เป็นรถไฟฟ้าธรรมดา (City Line) เชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิกับสถานีพญาไท ให้ประชาชนใช้เดินทาง โดยจะจอดทุกสถานี ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที

ระบบที่ 3 เป็นการเช็กอินในตัวเมือง (City Air Terminal) อยู่ที่สถานีรถไฟมักกะสัน ให้บริการผู้โดยสารที่จะเดินทางไปต่างประเทศเช็กอินในตัวเมืองได้ ไม่ต้องขนสัมภาระไปถึงสนามบิน

เมื่อทำรูปแบบโครงการที่ดูดีแล้ว ต่อไปก็คือ การปั้นตัวเลข จำนวนผู้โดยสารเพื่อให้โครงการมีความเป็นไปได้ในการลงทุน

ก่อนการก่อสร้างมีการศึกษาและคาดการณ์ ผู้โดยสารรถด่วน (Express Line) ไว้ที่ 8,200 คน/วัน และเพิ่มเป็น 4.5 หมื่นคน ในปี 2560

แต่ปัจจุบันมีผู้โดยสารวันละ 1,400-1,500 คนเท่านั้น

สายรถธรรมดา (City Line) ประเมินไว้ที่ 8.7 หมื่นคน/วัน และเพิ่มเป็น 218,000 คน ในปี 2560 เช่นกัน

แต่ปัจจุบันมีผู้โดยสารเฉลี่ยแค่ 4.5 หมื่นคน

หรือระบบเช็กอินในตัวเมืองมีผู้ใช้บริการแค่วันละ 10 คน

ทั้งหมดจึงทำให้ขาดทุนมหาศาลไม่เพียงเฉพาะค่าก่อสร้าง 25,907 ล้านบาท แต่ยอดขาดทุนยังเรื้อรังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากค่าเดินรถ ค่าซ่อมบำรุง ฯลฯ

คิดอยากจะทำอะไรให้เกิดความเสียหายแบบไม่สิ้นสุด ก็ให้ดูแอร์พอร์ตลิงค์เป็นตัวอย่าง

เจ๊งทน เจ๊งทาน เจ๊งตลอดกาลแน่นอน