posttoday

ถอดรหัสเจรจาล่ม

20 กุมภาพันธ์ 2557

หลังมีกระแสการเจรจาลับระหว่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.กับคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยมีผู้นำทางทหารเป็นแกนกลางออกมาเป็นระยะๆ แต่จากคำปราศรัยของ สุเทพ เมื่อค่ำวันที่ 18 ก.พ. ก็ชัดเจนว่า ความพยายามสำหรับการเจรจาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

หลังมีกระแสการเจรจาลับระหว่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.กับคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยมีผู้นำทางทหารเป็นแกนกลางออกมาเป็นระยะๆ แต่จากคำปราศรัยของ สุเทพ เมื่อค่ำวันที่ 18 ก.พ. ก็ชัดเจนว่า ความพยายามสำหรับการเจรจาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

“มีคนส่งข่าวมาบอกผมว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร นายกรัฐมนตรี) พร้อมที่จะลาออก และจะเปิดทางให้มีคนกลางมาเป็นนายกฯ และต้องเป็นคนกลางที่เขาเห็นชอบ แต่ถ้าลาออก โดยยอมแพ้ จะไม่ยอม และก็บอกกับคนที่มาส่งข่าวไปแล้ว และขอประกาศเลยว่า พวกเราประชาชนไม่ยอมแพ้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคนตระกูลชินวัตร เหมือนกัน ไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว และจะขอสู้จนเหลือคนสุดท้าย ขออย่าให้ใครมาเจรจาและอาสามาเจรจาอีก เพราะผมขอพูดแทนประชาชนว่า ไม่มีใครยอมตระกูลชินวัตรอีกต่อไปแล้ว ถ้าต้องยอมเป็นขี้ข้าตระกูลชินวัตร ให้พวกผมตายไปดีกว่า เป็นไงเป็นกัน

คำปราศรัยของ สุเทพ เป็นการตอกตะปูปิดฝาโลงการเจรจา และนับจากนี้ทั้งสองฝ่ายคงต้องต่อสู้กันอย่างไม่มีกำหนดวันเลิกรา จนกว่าข้างใดข้างหนึ่งจะหมดแรงก่อนกัน

ทั้งนี้ ฝ่ายรัฐบาลก็ยืนกรานอยู่ในตำแหน่ง ยึดระบบการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ให้เดินหน้าต่อไป จนกว่าจะตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ปล่อยให้ กปปส.อ่อนแรงไปเอง เนื่องจากต้องใช้ทุนจากท่อน้ำเลี้ยงจำนวนมากต่อวัน ในขณะเดียวกันทาง กปปส.ก็คาดหวังให้องค์กรอิสระเชือด ยิ่งลักษณ์ ให้สิ้นสภาพการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อาทิ ลุ้นให้ ป.ป.ช.เชือดโครงการรับจำนำข้าว แต่กว่าจะจบสิ้นกระบวนการคงใช้เวลานานเป็นเดือน

อย่างไรก็ตาม คำพูดของ สุเทพ ที่ระบุในทำนอง ยิ่งลักษณ์ พร้อมลาออก แต่มีเงื่อนไขต้องพอใจรัฐบาลคนกลางนั้น น่าสนใจยิ่งว่า เบื้องหลังการเจรจาดังกล่าวนั้น มีที่ไปที่มาอย่างไร

กว่า 3 เดือนของการชุมนุม กลุ่ม กปปส.นั้นได้มีการเจรจากันเป็นทางการเพียงครั้งเดียว คือ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2556 ที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) ซึ่งในการเจรจาครั้งนั้น ประกอบด้วย ยิ่งลักษณ์ และ สุเทพ โดยมีผู้นำสามเหล่าทัพเข้าร่วมด้วย

ผลการเจรจาครั้งนั้น สุเทพ ยื่นข้อเสนอให้ ยิ่งลักษณ์ และตระกูลชินวัตร ลาออก เลิกเล่นการเมือง แล้วเปิดโอกาสให้มีการตั้งรัฐบาลประชาชน และตั้งสภาประชาชนขึ้นมาปฏิรูปประเทศก่อนจะมีการเลือกตั้ง แต่ ยิ่งลักษณ์ ยืนกรานสิ่งที่ สุเทพ เรียกร้องนั้นทำไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่เปิดช่องให้ จึงยืดเยื้อจนถึงทุกวันนี้

ทว่า ระหว่างทางที่มีการยกระดับการชุมนุมขึ้น ก็ได้มีความพยายามจากคนใกล้ชิด ทักษิณ และคนใกล้ชิด สุเทพ ในหลายระดับ ได้มีการเจรจาพูดคุยแลกเปลี่ยนทางออกกันเป็นระยะ แต่ไม่เป็นผล จนกระทั่งมีการยกระดับชุมนุมเข้มข้นขึ้นมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ทางผู้นำเหล่าทัพเสนอทางออกให้ ยิ่งลักษณ์ ยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่ทันที

แม้ ทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ จะอิดออดกับข้อเสนอนี้ แต่เมื่อผู้ชุมนุมมาเป็นเรือนล้าน ยิ่งลักษณ์ ก็ยอมยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. 2557 ทว่า กปปส.โดย สุเทพ ประกาศไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ประกาศไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลต้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง พร้อมเรียกร้องให้ ยิ่งลักษณ์ ลาออกจากนายกรัฐมนตรีรักษาการ เพื่อตั้งรัฐบาลของประชาชน แต่ ยิ่งลักษณ์ ไม่ยอม

ครั้นสถานการณ์ยืดเยื้อ จนนำไปสู่ความรุนแรงมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การเจรจาขาดตอน กระทั่งล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา คนใกล้ชิด ทักษิณ สายพิราบ กับคนใกล้ชิด สุเทพ ก็มีการต่อสายหาทางเจรจากันอีก โดยมีผู้นำเหล่าทัพเป็นคนกลาง โดยได้มีการพูดถึงหลักการความเป็นไปได้ของทางออกในการแก้ไขปัญหา

การพูดคุยครั้งนี้ ฝ่ายรัฐบาลมีการตั้งโจทย์ว่า ถ้าจะให้มีรัฐบาลกลางควรจะให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี ให้เสนอชื่อมาเพื่อจะได้เป็นตัวเลือก ซึ่งในการสนทนามีการเสนอชื่อ พล.อ.ประวิทย์ วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ทบ.และอดีต รมว.กลาโหม สมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และ พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี

ครั้นข้อเสนอนี้ไปถึงดูไบ ทักษิณ ไม่เห็นด้วยที่จะให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ลาออก แต่ได้เสนอเงื่อนไขใหม่ คือ ยอมให้เพียงแค่ ยิ่งลักษณ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ แล้วให้คู่กรณีเสนอคนในรัฐบาลที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีมาทำหน้าที่แทน

“ไม่ขัดข้องว่าจะให้ พงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี หรือจะให้ ยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี จากพรรคชาติไทยพัฒนา ของ บรรหาร ศิลปอาชา” แหล่งข่าวเปิดเผย

ข้อเสนอนี้ทางฝ่าย สุเทพ ไม่รับเงื่อนไข พร้อมย้ำจุดยืนคือ ยิ่งลักษณ์ ต้องลาออก แล้วให้มีรัฐบาลกลางขึ้นมาทำหน้าที่เท่านั้น การเจรจาจึงปิดฉากลง และท่ามกลางแรงกดดันใส่รัฐบาลอย่างหนักหน่วง ทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ พูดกับคนใกล้ชิดในทำนองเดียวกันว่า “หากจะได้อำนาจรัฐ ก็ให้มาปฏิวัติเอาไป”