posttoday

งมโข่งอย่างเดิม

18 กันยายน 2555

โลกทั้งโลกดูเหมือนว่ากำลังเข้าสู่ภาวะการจัดระเบียบใหม่ มหาอำนาจตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

โลกทั้งโลกดูเหมือนว่ากำลังเข้าสู่ภาวะการจัดระเบียบใหม่ มหาอำนาจตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ หรือยุโรปต่างถดถอย อ่อนกำลังลง ขณะที่มหาอำนาจหน้าใหม่ อย่างจีน อินเดีย กำลังเดินหน้าขึ้นมาแทนที่

ต้นตอของการเปลี่ยนแปลงมาจากเหตุหลายประการ แต่ที่ถือเป็นจุดแปรเปลี่ยนสำคัญ คือ วิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐ และลามมาถึงยุโรป ทำให้ชาติเหล่านี้อ่อนแอ หมดกำลังลง และต้องสาละวนไปกับการแก้ไขปัญหาปากท้องของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ชาติใหม่ในเอเชียอย่างจีน จะถูกมองว่ามีโอกาสก้าวเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก แต่ทว่าก็ยังเกิดปรากฏการณ์ที่จะทำให้เกิดการแปรผัน หรือเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

ตัวอย่างที่กำลังเกิดขึ้น ก็คือปัญหาการประท้วงของชาวจีนต่อญี่ปุ่นในกรณีพิพาทดินแดนเกาะเตียวหยูที่ลุกลามไปหลายเมือง กลุ่มธุรกิจญี่ปุ่น อาทิ แคนนอน พานาโซนิค และบริษัท ไลอ้อน ที่มีโรงงานในกว่างตง เจียงซู ซานตง และเมืองเซี่ยงไฮ้ ต้องหยุดงานชั่วคราว

รถยนต์และสินค้าญี่ปุ่นอื่นๆ ในจีน เช่น กล้องถ่ายรูปโซนี่ พานาโซนิค แคนนอน ยอดขายลดลงในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา

สายการบิน ออลนิปปอน แอร์เวย์ส ต้องยกเลิกเที่ยวบินจากจีนไปญี่ปุ่นมากขึ้น รวมทั้งโรงเรียนสำหรับชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในจีนหลายแห่ง ทั้งในกรุงปักกิ่งและเมืองเซี่ยงไฮ้ ต่างยกเลิกการเรียนการสอนเช่นกัน

สื่อจีนที่เป็นของรัฐและภาคธุรกิจ ก็ร่วมขบวนต่อต้านครั้งนี้ อาทิ สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของจีน มีหนังสือแจ้งให้ช่องซีซีทีวี 1 ซีซีทีวี4 และช่องข่าว ระงับการฉายโฆษณาสินค้าญี่ปุ่น

สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวคังฮุยของจีน แถลงว่า บริษัททัวร์หลายแห่งทั่วจีน ทั้งในกรุงปักกิ่งและเมืองหนานจิงในมณฑลเจียงซู ระงับการจำหน่ายของที่ระลึกญี่ปุ่นและงดจองทัวร์ญี่ปุ่น รวมทั้งลูกทัวร์ชาวจีนต่างก็ยกเลิกทัวร์ด้วย

กระแสพิพาทกรรมสิทธิเหนือเกาะเตียวหยูระหว่างจีนและญี่ปุ่น เริ่มคุกรุ่นขึ้นเมื่อยามฝั่งญี่ปุ่นจับกุมกลุ่มรณรงค์พิทักษ์เกาะ ชาวจีนที่ล่องเรือไปเหยียบเกาะเตียวหยู และยิ่งร้อนแรงเมื่อญี่ปุ่นแถลงการซื้อเกาะเล็กเกาะน้อยในบริเวณหมู่เกาะเตียวหยูเมื่อสัปดาห์ก่อน

แน่นอนที่สุดว่า ปัญหากระทบกระทั่งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นยังไม่จบง่ายๆ เนื่องจากเกาะเตียวหยูตั้งอยู่ในทะเลจีนตะวันออก เป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญทางยุทธศาสตร์ และยังเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมหาศาล

ซ้ำร้ายจีนกับญี่ปุ่นยังมีประวัติศาสตร์ที่ขมขื่นระหว่างกัน เหมือนแผลเก่าที่ไม่หาย และหากมีประเด็นใดมาสะกิด ปัญหาที่เกิดขึ้นจะรุนแรงเหมือนกับกรณีพิพาทเกาะเตียวหยู

ผลกระทบที่น่าจะตามมา ไม่เพียงแต่ด้านเศรษฐกิจในแง่การลงทุนของชาวต่างชาติในจีน โดยเฉพาะจากนักลงทุนญี่ปุ่น แต่ทว่าจะพัวพันกับการเมืองระดับประเทศและระดับโลกอย่างแน่นอน

นี่แหละ คือภาวะที่โลกกำลังสับสน เข้าสู่การจัดระเบียบใหม่ แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือประเทศไทยไม่สามารถยึดโยง เอาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้เลย

สาเหตุเพราะพวกเราตกอยู่ในวังวนความขัดแย้งมาอย่างยาวนาน และยังไม่มีทีท่าจะหาทางออกไปได้

รัฐบาลที่บริหารประเทศ ก็มุ่งเฉพาะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หวังผลทางการเมือง พรรคการเมืองก็ต่อสู้แย่งชิงความได้เปรียบกันเป็นหลัก

สุดท้าย เมื่อโลกปรับเปลี่ยนไปแล้ว เราก็ยังต้องงมโข่งทำหน้างงๆ กันแบบเดิม