posttoday

จะไปทางไหน

05 กันยายน 2555

ในแต่ละวันจะมีข่าวต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย และหากอ่านข่าวทั้งหมด รวมถึงนำมาเรียงร้อยกัน ก็จะเห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

ในแต่ละวันจะมีข่าวต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย และหากอ่านข่าวทั้งหมด รวมถึงนำมาเรียงร้อยกัน ก็จะเห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ตัวอย่างเช่น เมื่อวานนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน ส.ค. โดยระบุว่าปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 77.9

ผู้บริโภคมีความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ในอนาคต หลังจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจลงมา

นอกจากนี้ ภาวะการค้าระหว่างประเทศชะลอตัว ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้น และราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 68.4 โอกาสในการหางานทำปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 69.6 แต่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตปรับตัวลดลงอยู่ที่ 95.8

ส่วนการส่งออกของประเทศในปีนี้มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่า 5% หอการค้าไทยจะรอผลการส่งออกในช่วงไตรมาส 3 ก่อนจะปรับประมาณการใหม่ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 5.8%

หากการส่งออกลดลง 1% จะทำให้มูลค่าการส่งออกหายไป 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งมองว่าการส่งออกมีโอกาสที่จะลดลง 2%

ขณะเดียวกัน ข่าวอีกเรื่องก็คือ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA จะจัดระดมสมองนักธุรกิจชั้นนำและหน่วยงานรัฐ เพื่อกำหนดแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและจัดทำแผนยุทธศาสตร์ประเทศเสนอรัฐบาลให้เป็นวาระแห่งชาติ

สาเหตุเนื่องจากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกของ IMD ในปี 2555 พบว่าไทยถูกจัดอันดับที่ 30 จากทั้งหมด 59 ประเทศ ลดลงเมื่อเทียบจากปีก่อนที่อยู่อันดับ 27

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียมีอันดับความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 16 ขยับขึ้นมาเป็น 14 ส่วนสิงคโปร์อยู่อันดับที่ 4 ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่อันดับ 3

หากมองปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันจะพบว่าไทยลดลงทุกด้าน

ไม่ว่าจะเป็นสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของเอกชน โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภคที่ต่ำมาก อีกทั้งยังมีปัจจัยลบเรื่องความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล ปัญหาคอร์รัปชัน ความไม่แน่นอนด้านนโยบายรัฐ

เอกชนมองว่าปัจจัยเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากภาครัฐ และเอกชนต้องลุกขึ้นมากระตุ้น ขับเคลื่อนเองเพราะชักทนไม่ไหว

นี่แหละ ความจริงประเทศไทย

อย่าได้หลงจมกับความฝันอันสวยหรูกันอยู่เลย