posttoday

จุดเกิดเหตุ"อุ่นไอแค้น"

11 มิถุนายน 2555

แต่ละถ้อยคำปลุกระดมผู้คนให้ฮึกเหิมก้าวล่วงสถาบันที่เป็นเสาหลักของบ้านเมืองโดยฝ่ายรัฐ นิติบัญญัติ ก็ไม่เคยออกตักเตือน

โดย....อสนีบาต

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นสภาเสียงข้างมากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นแนวต้านจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ต่างจับจ้องรอจังหวะผลักดันสิ่งที่ตนเองต้องการสู่เส้นชัยให้ได้

จะด้วยความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการผลักดันร่างกฎหมายปรองดองแห่งชาติ ถูกกำหนดไว้บนเส้นทางที่เต็มไปด้วยขวากหนามทางการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น  

ณ ขณะนี้มีทางเลือกอยู่ 2 ทาง  1.เลือกเดินหน้าฝ่าไฟแดงพร้อมรับความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น  หรือ 2 .เลือกผูกมิตรทั้งฝ่ายหนุนและฝ่ายต้านเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยการวางจังหวะยืดหยุ่น เปิดใจรับข้อเสนอความเห็นต่างเสียบ้าง ล้วนเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องควรนำมาคิดพิจารณาให้มากๆ

นโยบายสร้างความปรองดองถูกกำหนดไว้เป็นหนึ่งในนโยบายรัฐบาล แต่วิธีนำนโยบายสู่การปฏิบัติ คือการหลับหูหลับตาออกกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างเดียวหรือ  คำตอบคือ "ไม่ใช่"

ร่างกฎหมายปรองดองไม่ใช่ยาวิเศษของการนำไปสู่ความปรองดอง   จริงอยู่ถ้าถามคนในรัฐบาลที่หายใจเข้าออกเป็นนายใหญ่ หรือถามส.ส.ข้าทาส  มันก็มีคำตอบเดียวในสมองอยู่แล้วว่า "ใช่" แต่ถ้าถามคนที่มองประโยชน์ชาติเป็นสำคัญแม้กระทั่งคนในพรรคเพื่อไทยอีกจำนวนหนึ่งด้วยซ้ำก็ต้องการให้สังคมชาติขับเคลื่อนด้วยภาพที่ทุกฝ่ายร่วมมือร่วมแรงกัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง คนเหล่านี้ก็คงจะตอบแนวทางสร้างความปรองดองได้มากกว่าคิดที่จะออกกฎหมายปรองดองอย่างเดียว

ตั้งหลักแล้วมาพิจารณาให้ดีๆ ปัญหาทั้งปวง จะไม่นำไปสู่ความวุ่นวายเลย ถ้าหากส.ส.เพื่อไทยไม่ไปรับลูกผลักดันร่างพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติของพล.อ.สนธิ  บุญยะรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และอดีตประธานคมช. แต่เมื่อนักการเมืองเสียงข้างมากดวงตาพร่ามัวเห็นผลประโยชน์นายใหญ่สำคัญกว่าประโยชน์ส่วนรวมจึงทำให้สภาอันทรงเกียรติตกอยู่ในสภาพสภาอันทรงเถื่อน

ก่อนหน้านี้พธม. อยู่อย่าง พธม. เคลื่อนไหวตามอุดมการณ์แนวคิดของพวกเขา ด้วยการจัดกิจกรรมในที่ตั้ง แต่เหตุจูงใจใดเล่านำไปสู่การตัดสินใจออกมาเอ็กเซอร์ไซส์กลางท้องถนน 

"เสียงเป่านกหวีดเรียกแขกให้พธม.ออกมาเย้วๆไม่ใช่เพราะกระแสข่าวสนับสนุนให้เกิดการปฏิวัติตามที่นักการเมืองโรงน้ำแข็งฝ่ายตรงข้ามถนัดพล่ามไปเรื่อยแน่นอน"

ทว่าต้นเหตุ "อุ่นไอแค้น" เริ่มจาก สมศักดิ์  เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ  พยายามโชว์ผลงานให้นายใหญ่ได้ประจักษ์ สมราคา”ค้อนปลอมตราดูไบ”มากกว่า  ด้วยการรับลูกหลังฉากสภาผ่าน”ผู้หวังดี”ในกรรมาธิการปรองดองที่เอ่ยอ้างสามารถล็อบบี้ทั้งบิ๊กบังและเพื่อไทยได้แล้ว   ทั้งๆที่คนในเพื่อไทยอีกจำนวนหนึ่งก็ยังไม่รู้ว่ามันสมคบคิดทำอะไรกัน   แต่เมื่อจะช่วยนายใหญ่เต็มที่ จึงจำเป็นต้องรวบรัดผลักดันร่างกฎหมายล้างผิดให้จงได้ 

เมื่อแรงต้านนอกถนนกำลังพัฒนาขยายวงกว้าง ผลเสียหายมิได้เกิดขึ้นเฉพาะฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเดียว  แต่จะขยายวงไปถึงฝ่ายบริหาร ภายใต้การนำรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่จะต้องเข้ามาเล่นเกมควบคุมสถานการณ์นี้ไปด้วย ซึ่งก็ยากปฏิเสธลอยตัวอีกต่อไป

เมื่อเป็นเช่นนี้การตัดสินใจใส่เกียร์ถอยหลังจึงจำเป็นต้องทำเพื่อไม่ให้สะเทือนไปถึง รัฐบาลน้องสาวที่อาจจะเกิดอาการตกใจ ทำอะไรไม่ถูกหากเจอเกมแรงๆ แต่ละฝ่ายวิ่งเข้าใส่กันกลางท้องถนน   ทั้ง พธม.ก็ดี  ทั้งฝ่ายค้านก็ดี  ทั้ง กลุ่มคนเสื้อแดงที่สนับสนุนก็ดี ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ต้องออกมาสยบศึกก็ดี

ความกระสันของ”ผู้หวังดี” เพื่อหวังว่า หากออกกฎหมายนิรโทษ นอกจากนายใหญ่ได้รับประโยชน์เต็มๆ แต่ตัวเองจะได้รับอานิสงค์ไปด้วยจากการถูกตั้งข้อหาทุจริตในกระทรวงหนึ่ง  พฤติกรรมเช่นนี้เพียรพยายามมาก่อนหน้านี้จากการดันหลังบิ๊กบัง ให้ตัดสินใจบรรจุวาระ รายงานผลการศึกษาสร้างความปรองดองของสถาบันพระปกเกล้าเข้าสู่สภา  ซึ่งผลที่ตามมาก็เป็นการ”อุ่นไอแค้น”ให้กับทุกฝ่าย  ไม่ต่างกับการดันร่างกฎหมายปรองดองเช่นกัน 

ครั้งนั้นทุกองคาพยพสั่นไหว  สถาบันพระปกเกล้าต้องออกแถลงการณ์สร้างความกระจ่างในความหมายปรองดองกระตุกเตือนมันสมองกรรมาธิการฯว่า ผลการศึกษาไม่ได้ชี้ว่าต้องออกกฎหมายปรองดองฉบับปัจจุบันทันด่วน แต่ผลการศึกษาของสถาบันฯ ต้องการให้สังคมได้นำไปร่วมกันพิจารณาศึกษาอย่างกว้างขวางอีกรอบ เพื่อตกผลึกร่วมกันก่อน   

ขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดง ญาติเหยื่อผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐที่เสียชิวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองออกมาคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อคนคนเดียว  แต่ต้องการให้พิสูจน์ข้อเท็จจริงหาผู้กระทำผิด ตามกระบวนการยุติธรรม เช่นเดียวกับพรรคฝ่ายค้าน อย่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ  ก็ออกมายืนยันจะไม่ยอมรับผลจากกฎหมายนิรโทษ แต่ต้องการให้ศาลตัดสินออกมาเลยว่าใครผิดใครถูก 

ในที่สุดเป็นอย่างไร ทั้งรัฐบาล- นิติบัญญัติภายใต้เสียงข้างมากลากไป เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หาได้รับข้อเสนอเหล่านี้   ซ้ำร้ายกระทำการข้ามขั้นตอนด้วยการโผล่ร่างกฎหมายปรองดอง    ในที่สุดสถานการณ์จึงเละตุ๊มเป๊ะอย่างที่เห็น นี่ไงจึงเป็นคำถาม คนใดก๊กใดจุดชนวนความวุ่นวายครั้งนี้

...มาถึงประเด็นศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่งให้รัฐสภาชลอลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3  พึงอ่านคำแถลงคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ละเอียด  มิได้เป็นการแทรกแซงนิติบัญญัติแต่เป็นการแจ้งถึงหน้าที่ของตุลาการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68  มีสิทธิรับคำร้องและเรียกคู่ความมาไต่สวนได้ นอกจากเป็นอำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุดฝ่ายเดียว 

ตามคำสั่งที่ออกมา ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ล้มล้างการปกครองหรือไม่ แต่เหตุใดถึงมีความพยายามจากกลุ่มคนทั้งอริเก่าที่ได้รับผลกระทบจากการยุบพรรค ทั้งข้าทาสนายใหญ่ ใส่ข้อมูลให้ผู้คนชิงชังศาลอย่างไม่เคารพยำเกรง

แม้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ควรวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงหลักทางกฎหมายมิใช่งัดวาทะสกปรกถึงขั้นปลุกระดมข่มขู่เอาชีวิตอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน มันจึงมีนัยยะแอบแฝงบางอย่างของกลุ่มคนเหล่านี้ 

นักการเมืองพันธุ์สอพลอ เคยบอก การยกร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เขียนไว้ชัดอยู่แล้ว การกระทำขัดต่อหมวดพระมหากษัตริย์กระทำไม่ได้  หรือแม้แต่จะโยงไปถึงการโละเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นสถาบัน  หรือพูดดูดีเสาหลักของประเทศยังคงอยู่ดี จะเป็นฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ หรือ สถาบันตุลาการ องค์กรอิสระ 

แต่พฤติกรรมการแสดงออกต่อสาธารณะทั้งในสภาและนอกสภามันตรงกันข้าม เพราะแต่ละถ้อยคำปลุกระดมผู้คนให้ฮึกเหิมก้าวล่วงสถาบันที่เป็นเสาหลักของบ้านเมืองโดยฝ่ายรัฐ นิติบัญญัติ ก็ไม่เคยออกตักเตือน  ก็เท่ากับให้ท้ายหมายที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างประเทศ  โดยเฉพาะมุ่งจ้องทำลายล้างสถาบันตุลาการให้เป็นองค์กรตามแบบฉบับที่ตัวเองต้องการ มันก็เท่ากับไม่ได้ทำให้เกิดการถ่วงดุลตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอีกต่อไป 

นักการเมืองประเภทนี่แหละ คือ พวกแทรกแซงล้มล้างขนานแท้