posttoday

ขี่ช้างจับตั๊กแตน

14 มีนาคม 2555

เมื่อวานมีข่าวเล็กๆ เกิดขึ้น แต่ว่าไปแล้วเป็นเรื่องที่น่าพูดถึงอย่างมาก

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

เมื่อวานมีข่าวเล็กๆ เกิดขึ้น แต่ว่าไปแล้วเป็นเรื่องที่น่าพูดถึงอย่างมาก

นั่นคือ พระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด 30 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายแดน ให้เข้มงวดกวดขันการนำเข้าสินค้าเกษตรทุกชนิด

เหตุผลก็เพื่อป้องกัน สกัดกั้นการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมาย ไล่ตั้งแต่หอมหัวใหญ่ กระเทียม ฯลฯ

แนวทางที่จะทำ คือ ให้ประสานกับด่านศุลกากรตรวจสอบการสำแดงราคาการนำเข้าของผู้ประกอบการอย่างถูกต้อง พร้อมตรวจสอบเอกสารอย่างเข้มงวด ป้องกันการปลอมแปลงและหมุนเวียนใช้ในการนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศ

นอกจากนั้น ให้ตั้งด่านตรวจตามแนวพรมแดน โดยให้นายอำเภอทุกอำเภอที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด

การทำงานยังให้ประสานฝ่ายทหารหรือตำรวจในการลาดตระเวนตามแนวรอยต่อของพรมแดนทางบก หรือลาดตระเวนตามแนวแม่น้ำโขง เพื่อตรวจสอบการนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมายอีกด้วย

นี่แหละ ข่าวทั้งหมดหากมองเผินๆ เป็นแค่เรื่องการเข้มงวดกวดขันของเจ้าหน้าที่

แต่ทว่าเบื้องหลังข่าวนี้มันน่าคิดมาก

เพราะปัจจุบันสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านไหลเข้าประเทศไทยอย่างมากมาย เนื่องจากนโยบายประชานิยมประกันราคาสินค้าเกษตรสูงลิ่วแบบไม่ลืมหูลืมตา

อย่างข้าวประกันรับจำนำถึงเกวียนละ 1.5 หมื่นบาท ผลที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่จะทำให้การส่งออกชะงักเท่านั้น แต่กลับเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลักลอบนำเข้าข้าวตามแนวชายแดน

ข้อมูลที่ปรากฏ มีการขนข้าวเข้ามาราคาเกวียนละ 7,000-8,000 บาท เพื่อสวมสิทธิโครงการรับจำนำข้าวเกวียนละ 1.5 หมื่นบาท ฟันอื้อซ่ามหาศาล

และมันก็ไม่ต่างจากการตรึงราคาก๊าซหุงต้มในประเทศไว้จนต่ำเกิน ทำให้มีการลักลอบขนก๊าซเมืองไทยไปขายประเทศเพื่อนบ้าน ได้กำไรไป 2-3 เท่าตัวนั่นแหละ

ทั้งสองเรื่องมีเหตุเหมือนกันก็คือ การกระทำที่บิดเบือนตลาด บิดเบือนข้อเท็จจริง ก็ย่อมสร้างผลกระทบตามมาอย่างที่เห็น จนต้องมาไล่ตามแก้ไขที่ปลายเหตุ เหมือนขี่ช้างไล่จับตั๊กแตนอย่างที่เห็น

และคำถามที่ตามมาอีกก็คือ เงินส่วนเกินของราคาข้าวและเงินอุดหนุนค่าก๊าซให้กับบรรดาเพื่อนบ้านมาจากไหน

คำตอบชัดเจนก็คือ มาจากเงินภาษีประชาชีคนไทยทั้งนั้น

มันน่าภูมิใจหรือน่าเวทนากันล่ะนี่