ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนหน้า “ทรงตัว” หวังมาตรการรัฐหนุน
FETCO เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้า (ส.ค.68) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” เศรษฐกิจในประเทศถดถอย สงครามการค้า ฉุด หวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หนุน
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนพฤษภาคม 2568 (สำรวจระหว่างวันที่ 19-31 พฤษภาคม 2568) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (สิงหาคม 2568) ปรับขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ที่ระดับ 110.36
ผลสำรวจ ณ เดือนพฤษภาคม 2568 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล ปรับเพิ่ม 38.5% อยู่ที่ระดับ 59.09 และกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ปรับเพิ่ม 25.0% อยู่ที่ระดับ 75.00 อยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” ส่วนกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ ปรับลด 15.9% อยู่ที่ระดับ 110.00 อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ขณะที่กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ ปรับเพิ่ม 125.0% อยู่ที่ระดับ 150.00 อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง”
ทั้งนี้ นักลงทุน มองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการไหลเข้าของเงินทุน
ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ รองลงมาคือสงครามการค้า และความกังวลต่อวินัยการคลัง
ขณะเดียวกัน หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK) ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดยานยนต์ (AUTO)
ในเดือนพฤษภาคม 2568 ตลาดทุนไทยยังคงเผชิญกับความผันผวนจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ แม้จะมีสัญญาณฟื้นตัวบางประการจากเดือนก่อนหน้า อาทิ การผ่อนคลายนโยบายการค้าสหรัฐฯ แต่ตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศยังขยายตัวต่ำกว่าคาด โดยสภาพัฒน์ฯ ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 เหลือเพียง 1.8% จากเดิมที่ประมาณการไว้ 2.8% รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 1/2568 ขยายตัวเพียง 2.6% และการผลิตของภาคอุตสาหกรรม 5 ไตรมาสล่าสุดขยายตัวเฉลี่ยเพียง 0.5%
โดย SET Index ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2568 ปิดที่ 1,149.18 ปรับตัวลดลง 4% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนพฤษภาคม 2568 อยู่ที่ 42,474 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 16,182 ล้านบาท ตั้งแต่ต้นปี 2568 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 70,749 ล้านบาท
ทางด้านปัจจัยต่างประเทศยังคงต้องติดตามนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวจากผลของสงครามการค้า สถานการณ์เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาจส่งผลให้ธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจหลัก ไม่สามารถปรับลดดอกเบี้ยได้ตามคาด
ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล และการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นไปอย่างล่าช้าโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน