posttoday

ANAN รูด 6.85% หลัง ThaiBMA สั่งแจงเหตุปิดสมุดทะเบียนหุ้นกู้ 5 รุ่น 11,300 ล้าน

10 มิถุนายน 2567

ราคาหุ้น ANAN ร่วง 6.85% หลังสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ขึ้นเครื่องหมาย RI หุ้นกู้ สั่งชี้แจงปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นกู้ 5 รุ่น มูลค่ากว่า 11,300 ล้านบาท ไม่ระบุเหตุผล โบรกฯ ชี้นักลงทุนกลับมากังวลสภาพคล่องบริษัท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN วันนี้ (10 มิ.ย.) ปิดช่วงเช้า เวลา 12.30 น. อยู่ที่ 0.68 บาท ปรับลดลง 0.05 บาท หรือลดลง 6.85% ปรับตัวขึ้นไปทำราคาสูงสุดที่ 0.70 บาท ปรับตัวลงไปทำราคาต่ำสุดที่ 0.58 บาท มูลค่าการซื้อขาย 10.38 ล้านบาท

ANAN รูด 6.85% หลัง ThaiBMA สั่งแจงเหตุปิดสมุดทะเบียนหุ้นกู้ 5 รุ่น 11,300 ล้าน

หลังจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA ประกาศขึ้นเครื่องหมาย Request Information (RI) หุ้นกู้ จำนวน 5 รุ่น ได้แก่ ANAN247A, ANAN251A, ANAN251B, ANAN256A และ ANAN261A แจ้งเตือนให้ผู้ลงทุนว่า ThaiBMA อยู่ระหว่างการขอข้อมูลเพิ่มเติมจาก Issuers เนื่องจาก ANAN แจ้งกำหนดวันปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นกู้ วันที่ 13 มิ.ย.2567 เพื่อจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 27 มิ.ย.2567 

สำหรับหุ้นกู้ทั้ง 5 รุ่น มีมูลค่าคงค้างรวมกัน รวมทั้งสิ้น 11,318.70 ล้านบาท ประกอบด้วย
 
1.หุ้นกู้ ANAN247A ครบกำหนดไถ่ถอน วันที่ 14 ก.ค.2567 มูลค่า 3,231.20 ล้านบาท
2.หุ้นกู้ ANAN251A ครบกำหนดไถ่ถอน วันที่ 15 ม.ค.2568 มูลค่า 1,811.70 ล้านบาท
3.หุ้นกู้ ANAN251B ครบกำหนดไถ่ถอน วันที่ 15 ม.ค.2568 มูลค่า 1,176.60 ล้านบาท
4.หุ้นกู้ ANAN256A ครบกำหนดไถ่ถอน วันที่ 9 มิ.ย.2568 มูลค่า 2,275.80 ล้านบาท
5.หุ้นกู้ ANAN261A ครบกำหนดไถ่ถอน วันที่ 15 ม.ค.2569 มูลค่า 2,823.40 ล้านบาท 
 
นักวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย ระบุว่า การปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นกู้ของ ANAN จำนวน 5 ชุด มูลค่ารวม 11,300 ล้านบาท โดยไม่แจ้งวาระในการปิดสมุดทะเบียน เพื่อเตรียมจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ให้ทราบ ทำให้เกิดความคลุมเคลือ โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระในวันที่ 14 ก.ค.2567 มูลค่ากว่า 3,230 ล้านบาท ซึ่งบริษัทเคยประกาศไว้ว่าจะชำระคืนได้ตามกำหนดเช่นเดียวกับหุ้นกู้ที่ครบไถ่ถอนไปเมื่อเดือน ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา ด้วยกระแสเงินสดของบริษัทจากการโอนโครงการและการขายสินทรัพย์บางส่วน

ดังนั้น การที่มีประเด็นนี้เกิดขึ้นจึงกลับมาสร้างความกังวลให้กับทั้งผู้ถือหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นของบริษัทเกี่ยวกับสภาพคล่องของบริษัทอีกครั้ง แม้ว่าทิศทางธุรกิจของ ANAN งบไตรมาส 1/2567 ออกมาพลิกกลับมาเป็นกำไร

อย่างไรก็ตาม ปัญหาล่าสุดอาจจะเกิดมาจากการบริหารจัดการการโอนโครงการ และการขายสินทรัพย์ของบริษัทที่ไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่วางแผนไว้ เนื่องจากภาวะดอกเบี้ยสูง และธนาคารยังมีความเข้มงวดในการให้สินเชื่อ ส่งผลต่อแผนการโอนโครงการและการขายสินทรัพย์ของ ANAN กระทบต่อกระแสเงินสดที่จะนำเงินมาชำระคืนหุ้นกู้ตามแผน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะมีการขยายกรอบระยะเวลาชำระคืนหุ้นกู้ทั้ง 5 ชุด