posttoday

ThaiBMA จับตาหุ้นกู้ Q2/67 ครบกำหนดมากสุดกว่า 249,207 ล้านบาท

04 เมษายน 2567

ThaiBMA เผยไตรมาส 2-4/67 มีหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอน 696,411 ล้านบาท ไตรมาส 2/67 มากที่สุดกว่า 249,207 ล้านบาท เป็นของเดือน เม.ย.นี้ มากถึง 110,959 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสแรก มียอดออกหุ้นกู้เอกชนระยะยาว 207,126 ล้านบาท หนุนยอดออกหุ้นกู้ปีนี้เข้าเป้า 0.9-1 ล้านล้านบาท

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ในปี 2567 ยังคงคาดการณ์ยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวจะอยู่ที่ 0.9-1 ล้านล้านบาท หลังจากในไตรมาส 1/2567 มีการออกหุ้นกู้ระยะยาว มูลค่า 207,126 ล้านบาท หุ้นกู้ที่ออกส่วนใหญ่กว่า 93% อยู่ในกลุ่ม Investment grade โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการออกสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เงินทุนและหลักทรัพย์ และอาหารและเครื่องดื่ม

ขณะเดียวกัน ในช่วงไตรมาส 2-4/2567 มีหุ้นกู้ระยะยาวครบกำหนดทั้งสิ้น 696,411ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ Investment Grade ในสัดส่วน 90% และหุ้นกู้ High Yield หรือกลุ่มที่มีเรตติ้งต่ำกว่า BBB- ลงไปถึงไม่มีเรตติ้ง ในสัดส่วน 10% ของหุ้นกู้ระยะยาวครบกำหนดในระยะเวลาดังกล่าว

ทั้งนี้ ในไตรมาส 2/2567 มีหุ้นกู้ระยะยาวครบกำหนดมากที่สุด รวมทั้งสิ้น 249,207.93 ล้านบาท โดยในไตรมาสนี้ เดือน เม.ย.2567 มีหุ้นกู้ระยะยาวครบกำหนดมากที่สุด รวมทั้งสิ้น 110,959.40 ล้านบาท ดังนั้นในเดือนนี้น่าจะมีการ Rollover เยอะที่สุดเช่นกัน

ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทไม่น้อยกว่า 10 บริษัท ได้ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว เช่น ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB มูลค่า 20,000 ล้านบาท และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY มูลค่า 10,000 ล้านบาท เพื่อนับเป็นกองทุนจองธนาคารตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นอกจากนี้ ยังมี บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU และ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เป็นต้น 

ขณะที่ในไตรมาส 3/2567 มีหุ้นกู้ระยะยาวครบกำหนดทั้งสิ้น 233,551.66 ล้านบาท และในไตรมาส 4/2567 มีหุ้นกู้ระยะยาวครบกำหนดทั้งสิ้น 213,651.18 ล้านบาท

นอกจากนี้ เริ่มเห็นบรรยากาศที่เริ่มกลับมาดีขึ้น ดอกเบี้ยเริ่มอ่อนลง ซึ่งหากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งดอกเบี้ยโลกและดอกเบี้ยไทย ก็จะส่งผลให้ Bond yield ปรับลดลงมา ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมา ก็คาดว่ายอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวจะเป็นไปตามที่คาดกาณ์ไว้ดังกล่าว 

ส่วนการเลื่อนระยะเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้ที่มีมากขึ้นนั้น มองว่าปัญหาหุ้นกู้เป็นปัญหาสะสมตั้งแต่โควิด-19 ดังนั้นต้องใช้เวลาในการแก้ไข  เพราะเป็นเรื่องปัญหาสภาพคล่องที่สะสมมาหลังโควิด-19 และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นไปค่อนข้างสูงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อาจจะต้องใช้เวลาในการที่ธุรกิจจะฟื้นคืนกลับมา และเมื่ออัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับลดลงก็จะส่งผลบวกต่อธุรกิจที่เดิมยากลำบากที่จะปรับตัว 

“ไม่สามารถบอกว่าได้ว่าปัญหาดังกล่าวมันจะหมดไปในเร็ววัน อาจจะยังมีอยู่ แต่ในเชิงของความเสี่ยงเชิงระบบ ไม่ได้มีผลกระทบมากนักกับโครงสร้างของหุ้นกู้ภาคเอกชน โดยหุ้นกู้ที่มีปัญหาส่วนใหญ่จะกลุ่มของหุ้นกู้ High Yield ซึ่งกลุ่มนี้การปรับโครงสร้างหนี้ ถ้ามีการจริงใจในการแก้ปัญหา ไปขอเจรจากับเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้โดยการขอยืดอายุ และขึ้นดอกเบี้ย ก็มีโอกาสที่เมื่อธุรกิจเริ่มฟื้น ดอกเบี้ยเริ่มลง ธุรกิจก็จะกลับมายืนได้ แต่สัดส่วนของหุ้นกู้พวดนี้ไม่ถึง 1% ของตลาดหุ้นกู้ทั้งหมด” นางสาวอริยา กล่าว 

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ผลการสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในปี 2567 ที่ผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 2 ครั้ง รวม 0.5% ในปี 2567 โดยมีโอกาสสูงที่ กนง. จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบเดือน มิ.ย.นี้ 

สำหรับการคาดการณ์ Bond yield ไทย ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าในปี 2567 Bond yield ไทยรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี อาจปรับตัวลดลงเฉลี่ย 5-10 bps. จากสิ้นไตรมาส 1/2567 มาอยู่ที่ 2.13% และ 2.44% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2567 โดยปัจจัยหลักที่จะมีผลต่อ Bond yield ในอนาคต คือ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ และสภาวะเศรษฐกิจของไทย