posttoday

ไม่ช่วยอะไร! "BTS" โดนด่านหินสกัดธุรกิจเพียบ

03 เมษายน 2567

"BTS"ราคาไม่ไปไหน แม้ กทม.จ่ายหนี้ก้อนแรก 2.3 หมื่นล้านบาท โบรกมองไม่เซอร์ไพรส์เหตุเป็นเงินที่ต้องได้ ชี้ด่านหินจากนี้มีอีกเพียบ "สัมปทานสายสีเขียวหมดอายุ-ยอดใช้บริการสายสีชมพูและเหลืองต่ำคาด"กดผลงานปี 67 ขาดทุน 4.76 พันล้านบาท ขณะที่ปี68 ขาดทุน 231 ล้านบาท

ราคาหุ้น "BTS" ปิดการซื้อขายเช้าวันนี้(3 เม.ย. 2567) อยู่ที่ 5.60 บาท ราคาปิดไม่เปลี่ยนแปลง มูลค่าการซื้อขาย 253.63 ล้านบาท โดยราคาขึ้นไปสูงสุด 5.70 บาท และลดลงต่ำสุด 5.55 บาท

     ตามที่ เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2567 ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 67 จำนวน 23,488,692,200 บาท เพื่อใช้จ่ายหนี้ให้กับ "บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC" ผู้รับสัมปทานและให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต สำหรับงานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล(E&M)นั้น ล่าสุดมีข่าวระบุว่า กทม.ได้ชำระหนี้ให้กับ BTSC จำนวน 23,091,937,361 บาท

 

     "BTSC" ประกอบธุรกิจเดินรถไฟฟ้าโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพตามสัญญาสัมปทานโดยมีรายได้หลักจากการจัดเก็บค่าโดยสาร , รายได้จากการโฆษณา และการให้เช่าพื้นที่ร้านค้า BTSC มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ BTS ถือ 98.23% 

     ทั้งนี้ BTSC เป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลักแต่เพียงผู้เดียว ขณะที่สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงอ่อนนุช-หมอชิด (สายสุขุมวิท) และ ช่วงสะพานตากสิน-สนามกีฬาแห่งชาติ (สายสีลม) หมดอายุสัมปทานปี 2572 ในทางปฏิบัติก่อนหมดอายุสัมปทาน 5 ปีทาง กทม.ต้องแจ้งว่าจะพิจารณาต่อสัมปทานหรือไม่ นั่นหมายความว่า กทม.ต้องแจ้ง BTS ทราบเร็วที่สุดในปี 2567 

   รวมถึงให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ประมูลผ่านกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง BTS ถือหุ้น 75% , STEC ถือ 15% และ RATCH ถือ 10%

ไม่เซอร์ไพรส์

     นักวิเคราะห์ บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) กล่าวว่า ข่าวดังกล่าวข้างต้นมองว่าธรรมดาไม่ใช่เรื่องที่เซอร์ไพรส์ การได้เงิน 2.3 หมื่นล้านบาทไม่ได้ทำให้ปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยน เพราะเงินส่วนนี้คือสิ่งที่ต้องได้อยู่แล้ว และยังมีส่วนค้างจ่ายอีก 2.7 หมื่นล้านบาท จากยอดหนี้ค้างจ่ายรวม 5 หมื่นล้านบาท 

     แต่แน่นอนว่าการที่ BTS ได้รับเงินสด 2.3 หมื่นล้านบาทจาก กทม. ตามคำตัดสินของศาลฯจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้บริษัทชำระหนี้ได้เพิ่ม และประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลงได้

     และปัจจัยบวกอีกเรื่องคือ VGI ขายหุ้นทั้งหมดใน KEX ออกไป ซึ่งจะช่วยลดส่วนแบ่งผลขาดทุนจากบริษัทย่อยลง 

     ขณะที่ประเด็นกดดันสำคัญมี 3 เรื่องที่ต้องติดตาม นั่นก็คือ 1.โครงการสายสีเขียวส่วนต่อขยาย สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวในปัจจุบัน (เขียวเข้ม และเขียวอ่อน) จะหมดอายุในปี 2572 ซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้ต่ออายุโครงการนี้ และอาจจะทำให้ธุรกิจของทั้งเครือ และราคาหุ้นมีโอกาส downside อีก

     2. จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูและเหลืองต่ำเกินคาด ฝ่ายวิเคราะห์ประเมินในเบื้องต้นว่าจำนวนผู้โดยสารของทั้งสองโครงการจะอยู่ที่ 100,000 คน อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้โดยสารในปัจจุบันของสายสีชมพูอยู่ที่ประมาณ 50,000 คน และสายสีเหลืองอยู่ที่ประมาณ 3.5 หมื่นคน

     และ 3. ความเสี่ยงจากการลงทุนของ BTS นอกจาก KEX แล้ว BTS ยังรับรู้ผลขาดทุนก้อนใหญ่จากการลงทุนอื่นๆอีก ได้แก่ SINGER ,  JMART , RABBIT ซึ่งฝ่ายฯคิดว่าการลงทุนของบริษัทจะทำให้ผลการดำเนินงานโดยรวมมี downside อีก

     "BTS ถูกกดดันมานานกว่าหนึ่งปีหลังจากที่ผ่านพ้นช่วงที่ COVID-19 ระบาด ซึ่งนอกจากธุรกิจหลักจะฟื้นตัวช้าแล้ว เราคิดว่า BTS ยังได้รับผลกระทบจากการรับรู้ผลขาดทุนจากการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 4.76 พันล้านบาทในไตรมาส 3/67 แย่ลงอย่างมากทั้ง YoY และ QoQ เนื่องจากมีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของการลงทุนใน KEX , มีผลขาดทุนจากการด้อยค่าการลงทุนของ RABBIT ใน SINGER และ ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น +53.2% YoY ซึ่งทำให้ผลขาดทุนของทั้งเครือในงวด 9เดือนปี67 อยู่ที่ 5.28 พันล้านบาท"

     อย่างไรก็ดี ฝ่ายฯปรับลดประมาณการลงเพื่อสะท้อนถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทจากปี 2567 โดยคาดว่าผลขาดทุนสุทธิของ BTS ในปี 2567 จะอยู่ที่ 4.76 พันล้านบาท และ ในปี 2568 จะอยู่ที่ 231 ล้านบาท

     ฝ่ายฯคิดว่า BTS ดูน่าสนใจน้อยลงจากความไม่แน่นอนหลายประเด็นจึงปรับลดคำแนะนำ BTS เป็น “ถือ” จากเดิม “ซื้อ” โดยประเมินราคาเป้าหมาย SOTP ปี 2568 (เมษายน 2567 - มีนาคม 2568) ที่ 6.30 บาท

     ส่วน นักวิเคราะห์ทางเทคนิค KGI กล่าวว่า สัญญาณราคาหุ้น BTS มีลักษณะแกว่งไซด์เวย์ออกด้านข้าง คงไม่แนะนำอะไร ส่วนตัวมองว่าห้ามหลุด 5.40 บาท