posttoday

ผู้จัดการ ตลท.น้อบรับแผนนายกฯปั้นตลาดหุ้นไทยเป็น Wall Street อาเซียน

27 กุมภาพันธ์ 2567

"ดร. ภากร ปีตธวัชชัย" เริ่ม 3 มาตรการใหม่ คุมเข้ม Short Selling และ Program Trading ในไตรมาส 2/67 ฟากมาตรการซื้อขายแบบ Auction สกัดหุ้นร้อน คาดเร็วสุดไตรมาส 3/67

KEY

POINTS

  • ตลท.ลุย Invesment Token - Utility Token ตามแผน
  • คาดใช้เกณฑ์หุ้น Short - Program Trading ไตรมาส 2/67
  • ปรับเทรด Auction เร็วสุดไตรมาส 3/67

     ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์และผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีฯเตรียมปั้นตลาดหุ้นไทยเป็น Wall Street อาเซียนนั้น ยอมรับว่าเรื่องดังกล่าว ส่วนตัวทราบข่าวพร้อมๆกับสื่อมวลชน แต่จากรายละเอียดเท่าที่เห็น จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีฯพูดถึงมี 4 ส่วน 

     เรื่องแรก คือ จะทำอย่างไรให้ตลาดหุ้นไทยมีผลิตภัณฑ์ต่างประเทศ 

     เรื่องที่ 2 คือ ทำอย่างไรให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล(Digital Asset)ของเราเจริญเติบโต

     เรื่องที่ 3 คือ ตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Market) หรือ การแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Exchange) อยากให้มีในประเทศไทย

     เรื่องที่ 4 คือ อยากให้ไทยเป็นศูนย์ภูมิภาค (Reginal Center) ของ ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน(Financial product)

     ซึ่งทั้ง 4 เรื่อง ที่นายกรัฐมนตรีฯได้กล่าวถึง อยู่ในสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯตั้งใจจะทำมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Digital Asset , Carbon Credit Product , การนำผลิตภัณฑ์ต่างประเทศ ทั้งด้านเงินทุน (Fundings) ด้านการลงทุน (Investment) เข้ามาอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

     "สิ่งที่ผมคิดว่าอาจจะต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ มี 2-3 เรื่อง คือ เรื่องคาร์บอนเครดิต ซึ่งผมเห็นด้วยว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ตลาดหลักทรัพย์ฯพร้อมสนับสนุนเต็มที่ อย่างตอนนี้ ตลท.ได้ทำร่วมกับ "เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่" ในการออก "Carbon Credit Contract" ที่สามารถใช้ได้ทั้งโลก 

     ขั้นตอนต่อไปต้องมาดูกันว่า ตลท.ต้องทำร่วมกับหน่วยงานอื่นๆของภาครัฐจะสามารถจัดตั้งระบบ Ecosystem ของ Carbon Credit ขึ้นได้อย่างไร ผมคิดว่าน่าสนใจ ผมคิดว่าการที่เรามี Digital Asset Inflastructure ที่ดี แข็งแรงจะช่วยทำให้ตรงนี้เกิดขึ้นได้รวดเร็ว ในเรื่องของ สินค้าจากต่างประเทศ (Foreign Product)ไม่ต้องกังวลมากนักเพราะเราพยายามหาบริษัทในต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนในประเทศไทยมากขึ้นและมีโพรดักส์ต่างประเทศเข้ามาทำให้นักลงทุนไทยสามารถได้ลงทุนเป็นเงินบาทผ่านโบรกเกอร์ในไทย

      อีกอันที่ต้องทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างมากเพื่อจะทำให้เกิดขึ้น คือ การทำให้ประเทศไทยเป็น "ศูนย์กลางไฟแนนซ์เชียล" ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่ต้องทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ตลท. , ก.ล.ต. , ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , กระทรวงพาณิชย์ , กระทรวงต่างประเทศต่างๆ และ BOI เป็นต้น

     ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าทุกภาคส่วนต้องมาช่วยกันทำตรงนี้ให้เกิดขึ้น ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯยินดีทำเต็มที่ แต่มีอีกหลายๆเรื่องที่จะต้องช่วยกันทำให้ดีขึ้น เพื่อจะได้แข่งกับประเทศอื่นที่เป็น เรจินอลไฟแนนซ์เชียลเซ็นเตอร์ในปัจจุบันได้

     "เรื่องนโยบายภาครัฐเป็นสิ่งที่ ตลท. เห็นด้วย พร้อมสนับสนุน พร้อมทำหน้าที่ของเราในส่วนต่างๆที่เราเป็นคนที่เหมาะสมที่ควรจะทำ และจะร่วมทำงานกับหน่วยงานอื่นๆในการที่จะทำให้ตลาดเกี่ยวกับ Digital Asset , Carbon Credit และ การเป็น Reginal Center ของไฟแนนซ์เชียลให้สามารถทำได้เร็วและดีที่สุด ซึ่งในเรื่อง Digital Asset ตลท.เน้นเรื่อง Invesment Token และ Utility Token ตามแผนที่วางไว้ในอดีต"

 

ผู้จัดการ ตลท.น้อบรับแผนนายกฯปั้นตลาดหุ้นไทยเป็น Wall Street อาเซียน จ่อใช้มาตรการเร็วสุด Q2/67

     ดร.ภากร กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการเพิ่มเติมที่ได้รับความเห็นชอบในหลักการ เรื่อง “มาตรการเพิ่มความมั่นใจในการ Short Selling และ Program Trading รวมถึงมาตรการเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ” จากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 21 ก.พ.67 ที่ผ่านมา

     1. Short Selling ปรับคุณสมบัติหุ้นที่สามารถขาย Short ได้ เพิ่มระดับมูลค่าตลาด(มาร์เก็ตแคป) เป็น 7.5 พันล้านบาท จากเดิม 5 พันล้านบาท และ เพิ่มเกณฑ์สภาพคล่อง โดยหุ้นที่จะ Short ได้ ต้องมีสัดส่วนปริมาณซื้อขายหุ้นต่อเดือน/ปริมาณหุ้นจดทะเบียน (Monthly Turnover) > 2%

     2. Program Trading สำหรับการขาย Short หุ้นที่ราคาปรับลงมากกว่า 10% ของวันก่อนหน้า กำหนดให้ราคาขาย Short ต้องสูงกว่าราคาล่าสุด (Uptick Rule) และ กำหนดเพดานสูงสุดในการขาย Short รายหลักทรัพย์ในแต่ละวัน อีกทั้งยังเปิดเผยข้อมูลรายวันของยอดสะสมปริมาณขาย Short ที่ยังไม่ได้ซื้อคืน

     3. มาตรการเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณชน อาทิ ส่งข้อมูลผู้ลงทุนที่มีพฤติกรรมการส่งคำสั่งซื้อขายไม่เหมาะสมให้แก่บริษัทสมาชิก, เปิดเผยรายชื่อผู้ถือ NVDR ตั้งแต่ 0.5% แต่ไม่น้อยกว่า 10 ราย

     มาตรการที่ออกมาวันนี้ไม่ใช่ออกมาเป็นยาเม็ดเดียวรักษาได้ทุกโรค แต่เป็นหลายๆมาตรการที่มารักษาแต่ละโรคแยกกัน และแต่ละจุดมียาหลายเม็ด 

     อย่างที่เห็นเรื่องแรก คือ ทำอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้เกิดธุรกรรม (Transaction)อะไร จะห้ามได้อย่างไร จะมีวิธีอะไรมากำหนด ระบุความชัดเจนอย่างไรว่าจะให้ซื้อขายแบบไหนได้บ้างในหุ้นแบบไหน อย่างเช่น พฤติกรรมที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นคือการส่งคำสั่งซื้อขายแบบความเร็วสูง ตลท.มีการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าในแต่ละเรื่องมีหลายมาตรการในการจับในแต่ละจุด คิดว่าจะช่วยให้เกิดธุรกรรมที่ ตลท.ต้องการมากขึ้นได้   

     เรื่องที่ 2 มีธุรกรรมเกิดขึ้น แล้วเกิดมีราคาเคลื่อนไหวที่ผันผวนมาก ตลท.จะมีการควบคุมไม่ให้เกิดผันผวน จากเดิมที่มี Circuit Breaker ของ ตลท. มี Static ที่เป็นแบนด์ ตอนนี้ก็จะมี Dynamic Price Band มากขึ้น เพื่อไม่ให้ราคาเคลื่อนไหวได้มากนัก ให้ราคาค่อยๆเคลื่อนไหว ยิ่งไปกว่านั้นถ้ามีธุรกรรมที่ไม่เหมาะสม สามารถจับไป Auction ได้ นั่นบ่งชี้ว่า ตลท.มียาหลายเม็ดและมียาหลายเสต็ป ตั้งแต่อ่อน กลาง และเข้ม 

     เรื่อง การคุ้มครองผู้ลงทุน (Investor Protection) ก็เหมือนกัน ในอดีตอาจจะพูดกันว่า ค่าปรับอาจจะน้อยทำให้คนไม่มีความเกรงกลัว ตลท.จึงปรับให้แรงขึ้น ซึ่งตรงนี้ ตลท.ยังต้องทำงานต่อ เพราะปัจจุบัน ตลท.ปรับได้เฉพาะบริษัทจดทะเบียน หรือ บริษัทหลักทรัพย์ฯ ซึ่ง ตลท.ดูเฉพาะบริษัทหลักทรัพย์ฯเท่านั้น ทั้งนี้ ตลท.พยายามปรับแก้ให้ค่าปรับต่างๆใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ

ผู้จัดการ ตลท.น้อบรับแผนนายกฯปั้นตลาดหุ้นไทยเป็น Wall Street อาเซียน

     "อยากจะเรียนว่า มาตรการที่เราพยายามออกมามันไม่ใช่ One site fix all มันเป็น 3 เรื่องหลักที่มีหลายๆยา หลายๆความเข้มข้นในแต่ละเรื่อง บางเรื่องอาจต้องใช้ระยะเวลา แต่บางเรื่องก็ทำได้เลย"

 

     ถามว่า.. ทั้ง 3 มาตรการดังกล่าวข้างต้นสามารถดำเนินการได้ทันทีหรือไม่ ?

     หากทำได้ ตลท. อยากทำทุกมาตรการให้เร็วที่สุด อยากทำได้ทันทีทุกมาตรการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนในการเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ในแต่ละมาตรการมีขั้นตอน มีวิธีการทำที่แตกต่างกัน

     อย่างกรณีมาตรการการปรับคุณสมบัติของหุ้น ถือเป็นเรื่องของเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์ฯไม่ได้ปรับระบบอะไรมากมาย นี่อาจจะทำได้เร็ว รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลของลูกค้า เป็นต้น คาดว่ามาตรการดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 2/67 

     แต่หากมีการแก้เกณฑ์ มีการปรับระบบ ดูความพร้อมของระบบสมาชิกอาจจะทำได้ไม่เร็วมาก อย่าง การให้มี Central Platform ในการ check หลักทรัพย์ก่อนขาย หรือ การเพิ่ม Circuit Breaker รายหุ้นที่ +/- 10%ของราคาซื้อขายล่าสุด เป็นต้น ที่ต้องมีการพัฒนาระบบ ต้องดูแลระบบในการตรวจสอบ ซึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนาระบบและการทำงานร่วมกับสมาชิกอาจจะใช้ระยะเวลานาน แต่คาดว่าน่าจะเห็นได้ในไตรมาส 3/67

ผู้จัดการ ตลท.น้อบรับแผนนายกฯปั้นตลาดหุ้นไทยเป็น Wall Street อาเซียน