posttoday

ส่องมาตรการชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตเหลือ 5% ผลกระทบต่อหุ้นแบงก์-นอนแบงก์?

25 กุมภาพันธ์ 2567

เปิดมุมมอง “กูรู” ต่อกรณีปรับลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตเหลือ 5% จาก 8% ส่งผลบวกต่อกลุ่มผู้ให้บริการบัตรเครดิตทั้งแบงก์-นอนแบงก์ หนุน credit cost และ NPL ลดลง รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น การเติบโตของสินเชื่อดีขึ้น แต่ “โอกาสเกิดขึ้นน้อย”

ในช่วงก่อนเกิด COVID-19 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดให้ผู้ให้บริการบัตรเครดิตเก็บอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำหนี้บัตรเครดิตในอัตรา 10% ของยอดการใช้จ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือน แต่เมื่อเกิด COVID-19 ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำเหลือ 5% ในปี 2563-2566 

จากนั้นเมื่อเดือน ม.ค.2567 ที่ผ่านมา ได้ขยับเพิ่มอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำหนี้บัตรเครดิตขึ้นมาเป็น 8% ของยอดการใช้จ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือน และในปี 2568 จะเพิ่มเป็น 10% ของยอดการใช้จ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือน เท่ากับช่วงก่อนเกิด COVID-19

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. หรือ สภาพัฒน์) เสนอให้ ธปท.มีการทบทวนอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำหนี้บัตรเครดิตจากปัจจุบัน 8% เหลือ 5% เนื่องจากเป็นห่วงกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพื่อนำมารูดซื้อสินค้าในการดำเนินธุรกิจ

ล่าสุด ทาง ธปท. ได้ระบุว่า จะต้องนำมาหารือข้อดีข้อเสียในการทบทวนอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำหนี้บัตรเครดิตจากปัจจุบัน 8% เหลือ 5% ดังกล่าว ซึ่งการจ่ายขั้นต่ำนานๆ ผลประโยชน์จะไปเกิดกับเจ้าหนี้ และที่ผ่านมาผู้ประกอบการบัตรเครดิต 11 ราย ให้ความร่วมมือในการตัดวงจรหนี้ โดยมีการปรับเปลี่ยนประเภทหนี้ ลดวงเงินชำระ และอัตราดอกเบี้ยแล้ว
          
ดังนั้น “โพสต์ทูเดย์” จึงนำเสนอมุมมองของนักวิเคราะห์ที่มีต่อกรณีปรับลดอัตราชำระขั้นต่ำหนี้บัตรเครดิตเหลือ 5% ตามข้อเสนอของสภาพัฒน์ โอกาสเกิดขึ้นได้มาก-น้อยเพียงใด ข้อดี ข้อเสีย และส่งผลกระทบต่อหุ้นแบงก์-นอนแบงก์อย่างไร เพื่อเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน

“ธนเดช รังษีธนานนท์” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "โพสต์ทูเดย์" ว่า ธปท. น่าจะไม่อยากทำ เนื่องจากกลัวเสียวินัยการเงิน และเพิ่งจะประกาศปรับขึ้นเป็น 8% ในปี 2567 และเพิ่มเป็น 10% ในปี 2568 ซึ่งเป็นแผนที่วางไว้ แต่สภาพัฒน์ก็มองว่าเศรษฐกิจมันอาจเติบโตยากขึ้น เพราะลูกหนี้เอาเงินมาจ่ายหนี้แทนการนำมาบริโภค

ทั้งนี้ มองว่า “ข้อดี” ของการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตที่ 5% คือ 1) ลูกหนี้มีภาระลดลง 2) แบงก์ได้ดอกเบี้ยมากขึ้น เพราะเป็นหนี้ยาวขึ้น และ 3) เสี่ยงเป็น NPL ลดลง

ขณะที่ “ข้อเสีย” คือ 1) พอเป็นหนี้นานขึ้น หนี้ครัวเรือนก็ลดลงช้าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 2) หากลูกหนี้จ่ายน้อย และหากเกิดมีวิกฤตรอบหน้า จะทำให้ฐานะการเงินของลูกหนี้อ่อนแอลง เป็นหนี้กันไม่จบสิ้น 3) สร้างนิสัยการก่อหนี้ใหม่ที่อาจขาดความรับผิดชอบ เพราะกู้มาแล้ว เวลาจ่าย จ่ายน้อยและผ่อนนาน ไม่เป็นผลดีต่อการเติบโตเศรษฐกิจระยะยาว 

“มองว่า ธปท. ไม่น่ายอมง่ายๆ ตามข้อเสนอของสภาพัฒน์ดังกล่าว เช่นเดียวกับกรณีกดดันให้ลดดอกเบี้ย ธปท. ก็ไม่ยอม” 

“ณัฐพล คำถาเครือ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า สศช. เสนอให้ ธปท. ทบทวนต่ออายุมาตรการจ่ายขั้นต่ำของบัตรเครดิตที่ 5% ต่อไป แต่เบื้องต้นมองมีโอกาสน้อยที่จะคงมาตรการดังกล่าว เพราะ ธปท. ต้องการที่จะลดมาตรการผ่อนปรนต่างๆ ที่นำมาใช้ช่วง COVID-19 และควบคุมหนี้ครัวเรือน 

ส่วนกรณีที่ลูกหนี้ผ่อนชำระไม่ไหวจะมีการเสนอทางเลือกให้ปรับโครงสร้างหนี้อยู่แล้ว ทำให้ชอบหุ้น Non-Bank ที่เน้นสินเชื่อจำนำทะเบียน อย่าง SAWAD (ราคาเป้าหมาย 60 บาท) และ TIDLOR (ราคาเป้าหมาย 29 บาท) มากกว่าสินเชื่อเพื่อการบริโภค

บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุว่า การปรับลดการจ่ายขั้นต่ำของบัตรเครดิตเหลือ 5% จากปัจจุบันที่ 8% มองโอกาสเกิดขึ้นน้อย เพราะ 1.การเพิ่มการจ่ายขั้นต่ำของบัตรเครดิตเป็นการปรับแบบขั้นบันได โดยปี 2567 จ่ายขั้นต่ำที่ 8% และกว่าจะไประดับเดิมปี 2568 ที่ 10% 2.การลดการจ่ายขั้นต่ำของบัตรเครดิต ทำให้ภาระหนี้ของลูกหนี้มากขึ้น ไม่สอดคล้องกับการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนของทาง ธปท. 

อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับลดการจ่ายขั้นต่ำของบัตรเครดิต มองเป็น Positive ต่อกลุ่มผู้ให้บริการบัตรเครดิต (KTC, AEONTS) เพราะ 1.ค่าใช้จ่ายสำรอง (credit cost) มีแนวโน้มลดลง 2.Gross NPL มีแนวโน้มลดลง และ 3.รายได้ดอกเบี้ย (NII) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กลุ่ม Bank ภาพรวมแต่ละธนาคารมีสินเชื่อบัตรเครดิตไม่เกิน 5% ส่วนกลุ่ม Consumer Finance : KTC (65%) และ AEONTS (46%)

โดยคงคำแนะนำ NEUTRAL ต่อกลุ่มธนาคารและคง TTB (BUY, ราคาเป้าหมาย ปี 2567 ที่ 2.2 บาท) เป็น Top Pick และคงคำแนะนำ NEUTRAL ต่อกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ และคงกลุ่มจำนำทะเบียนเป็น Top Pick

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส มีมุมมองกรณีที่เกิดขึ้น จะช่วยลดภาระการผ่อนชำระต่อเดือนของลูกหนี้ระยะสั้น ยามเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ระหว่างรอเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่จะกระจายลงสู่ระบบช่วงกลางปี 2567 อย่างไรก็ดี มองว่าปีถัดไป อัตราการผ่อนขั้นต่ำควรทยอยกลับสู่ระดับ Pre-COVID เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของลูกหนี้ 

ขณะที่ กรณีที่ไม่เกิดขึ้น ปัจจุบัน ธปท. มีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ผ่อนชำระไม่ไหวและสนใจเข้าร่วม อาทิ คลีนิกแก้หนี้ (ลูกหนี้ที่เข้าร่วมต้องปิดวงเงิน) 

ส่วนความกังวลต่อการที่ SME นำวงเงินบัตรเครดิตมารูดซื้อสินค้าในการดำเนินธุรกิจ อาจแก้ไขได้ด้วยการที่ธนาคารนำเสนอวงเงินสินเชื่อประเภท Working capital ให้ตรงกับความต้องการใช้เงินของลูกหนี้ ซึ่งอิงกับ MRR ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต

โดยฝ่ายวิจัยมีมุมมองแยกเป็นกลุ่มธนาคาร และ Non-Bank 

กลุ่มธนาคาร ด้วยพอร์ตสินเชื่อบัตรเครดิตของธนาคาร มีสัดส่วนต่อพอร์ตสินเชื่อรวมไม่สูง เช่น BAY (รวมสินเชื่อบุคคล อยู่ที่ 8% ของสินเชื่อรวม), KBANK (ราว 4% ของพอร์ตสินเชื่อ), KTB (ผ่าน บริษัทย่อย KTC คิดเป็นสัดส่วน 3% ของพอร์ตสินเชื่อ), SCB (CARDX รวมสินเชื่อบุคคล อยู่ที่ 5% ของสินเชื่อรวม) และ TTB (ราว 3% ของพอร์ตสินเชื่อ) ทำให้ภาพรวมกรณีที่มีการปรับการจ่ายขั้นต่ำเหลือ 5% ประเมินผลดีต่อ Credit cost กลุ่มธนาคารจำกัด

กลุ่ม Non-Bank ที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต อย่าง AEONTS (สินเชื่อบัตรเครดิตที่ 43,000 ล้านบาท หรือราว 46% ของพอร์ตสินเชื่อ) และ KTC (สินเชื่อบัตรเครดิตที่ 74,000 ล้านบาท หรือประมาณ 66% ของพอร์ตสินเชื่อ) กรณีที่มีการปรับการจ่ายขั้นต่ำเหลือ 5% ประเมินจะได้ประโยชน์ช่วงสั้นมากกว่ากลุ่มธนาคาร ทั้งจากแรงกดดันด้าน Credit cost และ NPL ที่ลดลง รวมทั้งการเติบโตของสินเชื่อที่ดีขึ้น เพราะการชำระคืนเงินต้นที่ลดลงของกลุ่มลูกหนี้ที่จ่ายตามเกณฑ์ขั้นต่ำ