posttoday

ผู้ลงทุนรายย่อยร้อง DSI เอาผิดกองทุนลงทุนหุ้น STARK ฐานยักยอกทรัพย์

13 กุมภาพันธ์ 2567

ผู้ลงทุนรายย่อยยื่นหนังสือ DSI กรณีกองทุนลงทุนหุ้น STARK ขาดทุนยับ 3,500 ล้านบาท ให้รับเป็นคดีพิเศษ หลังจากร้องทุกข์ ก.ล.ต.ผ่านไปครึ่งปีเรื่องยังเงียบ ด้านอธิบดี DSI นับหนึ่งตรวจสอบผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ และกฎหมายอาญาฐานฉ้อโกง-ยักยอกทรัพย์ ตามครหาหรือไม่

วันนี้ (13 ก.พ.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กลุ่มผู้ถือหน่วยลงทุนที่เสียหายจากการลงทุนในกองทุนแห่งหนึ่งที่ได้ลงทุนในหุ้น บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ได้เข้าพบร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาการอธิบดีกรม DSI ให้รับกรณีนี้เป็นคดีพิเศษ และให้ดำเนินคดีต่อกองทุน ผู้บริหาร ผู้จัดการกองทุนฐานกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มาตรา 124/1 และกฎหมายอาญามาตรา343 ฐานฉ้อโกง และมาตรา 353 ฐานยักยอกทรัพย์ มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

ทางด้าน พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรม DSI เปิดเผยหลังจากรับหนังสือร้องเรียนจากตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายว่า DSI ไม่ได้นิ่งนอนใจในกรณี STARK ได้รับเรื่องไว้เป็นคดีพิเศษ ดำเนินคดีอย่างจริงจังต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวานนี้ (12 ก.พ.) เพิ่งแจ้งความดำเนินคดีและควบคุมตัว นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เจ้าของและผู้ถือหุ้นใหญ่ STARK ควบคุมตัวไว้ในเรือนจำระหว่างการพิจารณา  

ส่วนกรณีที่กลุ่มผู้เสียหายจากกองทุนมาร้องทุกข์ให้เป็นคดีพิเศษนั้น ในชั้นต้น DSI จะรับหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ และเริ่มตรวจสอบว่ากองทุนดังกล่าวมีพฤติการณ์ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์ รับเงินทอน ซื้อขายหุ้นโดยทุจริตและทำให้ประชาชนผู้ถือหน่วยลงทุนเสียหาย เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ หากเข้าข่ายก็พร้อมรับเป็นคดีพิเศษต่อไป 

ส่วนการที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกร้องเรียนว่ามีการกระทำผิด พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ด้วยนั้น และกลุ่มผู้เสียหายเคยไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาแล้วนั้น ทาง DSI ก็คงจะได้ประสานงานกับทาง ก.ล.ต. ต่อไป เนื่องจากเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมายโดยตรง แต่ DSI ก็พร้อมอำนวยความยุติธรรมในกรณีที่ ก.ล.ต. จะประสานงานมาในความผิดเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์

นายสิทธา (ขอสงวนนามสกุล) หนึ่งในตัวแทนผู้เสียหายยื่นหนังสือร้องทุกข์ ต่อกับอธิบดี DSI ระบุรายละเอียดในหนังสือว่า กลุ่มผู้เสียหายหลายหมื่นคนที่ลงทุนผ่านกองทุนประหยัดภาษี (LTF) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมแห่งหนึ่ง เพราะเชื่อมั่นว่ามีสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของประเทศเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อหวังจะนำไปใช้ประโยชน์ในการหักลดหย่อนภาษี และออมลงทุนไว้เป็นเงินใช้จ่ายยามเกษียณต้องมาเสียหายอย่างหนักจากการกระทำผิดกฎหมายของผู้ถูกกล่าวหา โดยได้เคยรวมตัวกันไปยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2566 

“เวลาผ่านมาครึ่งปี เรื่องเงียบหาย แต่กลับมีเจ้าหน้าที่ของกองทุนคู่กรณีติดต่อเกลี้ยกล่อมมาทางโทรศัพท์แทน เมื่อหมดที่พึ่งจึงมาร้องทุกข์ต่ออธิบดี DSI เพราะเห็นว่ามีผลงานดำเนินคดีกรณี STARK ไม่ไว้หน้าใคร ล่าสุดออกหมายจับดำเนินคดี นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เจ้าของและผู้ถือหุ้นใหญ่ STARK ส่งตัวไปเรือนจำ ทำให้เกิดความหวังว่าจะได้รับความยุติธรรมบ้าง จึงมาร้องทุกข์ต่ออธิบดี DSI” นายสิทธา กล่าว 

ตัวแทนผู้เสียหายบรรยายในหนังสือร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีว่า ข้าพเจ้าและคณะ รวมทั้งประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ ขอให้ DSI รับเรื่องเป็นคดีพิเศษ เพราะมีความเสียหายวงกว้างต่อประชาชนนับหมื่น ความเสียหายนับหมื่นล้านบาท และกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง และขอให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวน แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อผู้จัดการกองทุน คณะผู้บริหาร และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมดังกล่าว (ขอสงวนชื่อในเอกสารแถลงข่าว) ในฐานความผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มาตรา 124/1 

เนื่องจากผู้กระทำความผิด ไม่ได้จัดการกองทุนรวมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุน และกระทำการโดยทุจริต ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียผลประโยชน์อันพึงได้รับ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

นอกจากนั้นเป็นการกระทำผิดฐานฉ้อโกงตามกฎหมายอาญามาตรา 341 ผู้โดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 343 กระทำผิดด้วยการแสดงข้อความอั้นเป็นเท็จต่อประชาชน ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และกระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 353 ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กับขอให้ DSI เป็นตัวแทนข้าพเจ้าและประชาชนผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อในกรณีเดียวกัน หรือทำนองเดียวกันดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดให้เยียวยาชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในทางแพ่งอีกด้วย

ทั้งนี้ ข้าพเจ้า และประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อ ประสบผลขาดทุนในการลงทุนเฉพาะปี 2566 ที่เกิดเหตุลบ 21.93% ซึ่งข้าพเจ้า และประชาชน ต่างเข้าใจข้อจำกัดความเสี่ยงในการลงทุนผ่านกองทุนรวมดีว่า การลงทุนย่อมมีทั้งผลตอบแทนและความเสี่ยง 

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายดังกล่าวในกรณีนี้ ไม่ได้เป็นไปตามสภาพการลงทุนตามปกติวิสัย แต่มาจากการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว ดังต่อไปนี้

1.ข้าพเจ้าได้ตัดสินใจลงทุนหน่วยลงทุน LTF ผ่านกองทุนดังกล่าว เพื่อวัตถุประสงค์ในการประหยัดภาษี และเก็บออมสำหรับวัยเกษียณอายุ เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า บลจ.นี้ มีสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของประเทศ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีฐานะมั่นคงแข็งแกร่ง แต่การณ์กลับปรากฎว่าผลงานการลงทุนต่ำกว่ากองทุนประเภทเดียวกันอย่างชัดเจน 

กองทุนนี้มีผลดำเนินงานงวดรอบ 1 ปี ลบ 21.93% (ค่าเฉลี่ยของกลุ่มกองทุนประเภทเดียวกัน ลบเพียง 0.49% เนื่องจากกองทุนนี้ไปลงทุนในหุ้น STARK ไว้มาก และกระทำผิดกฎหมาย มีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่ได้จัดการกองทุนรวมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ มีการกระทำผิดในด้านความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุน และผิดกฎหมายอาญาฐานฉ้อโกงและยักยิกทรัพย์
 
2.ผู้กระทำความผิดยังบังอาจกระทำผิดกฎหมายอาญา โดยได้มีพฤติการณ์ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อข้าพเจ้า และผู้ถือหน่วยลงทุนด้วย โดยจะเห็นได้จากกองทุนนี้ได้เข้าไปลงทุนหุ้น STARK เอาไว้มากถึง 916 ล้านหุ้น ณ วันที่ 10 ต.ค.2565 โดยมีราคาต้นทุนตั้งแต่ 3.72 บาท ไปถึง 5 บาท 

ต่อมาเมื่อเกิดปัญหา STARK ยกเลิกดีลการซื้อกิจการบริษัท LEONI ประเทศเยอรมนี ในเดือน ธ.ค.2565 แล้ว กองทุนอื่นๆ ต่างพากันเทขายหุ้น STARK ออกเพราะเห็นว่าไม่เป็นไปตามแผนงาน และอาจกระทบต่อผลดำเนินงานได้ แต่กองทุนนี้กลับถือครองหุ้นเอาไว้จำนวนมาก กระทั่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้พักการซื้อขาย 4 เดือน มาเปิดให้ซื้อขาย 1 เดือนสุดท้าย ระหว่างวันที่ 1-30 มิ.ย.2566 ทางผู้กระทำผิดก็ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อผู้ถือหน่วยลงทุนว่าเหลือหุ้นในมือเพียงเล็กน้อย 

แต่ต่อมาผู้กระทำผิดได้แจ้งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ในวันที่ 23 และ 27 มิ.ย. 2566 ว่า ยังคงถือครองหุ้นไว้มากถึง 670 ล้านหุ้น และได้ขายออกไปหมด ก่อนจะถึงวันสุดท้ายที่ตลาดฯ ให้ซื้อขายได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2566 ซึ่งช่วงดังกล่าวราคาหุ้นเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับราคา 1 ถึง 4 สตางค์ ก็จึงน่าจะเหลือมูลค่าที่ขายได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท จากต้นทุนที่มีอยู่ราว 3,850 ล้านบาท ประมาณการว่าคงจะขาดทุนสุทธิมากกว่า 3,500 ล้านบาท
 
3.ผู้กระทำผิด ไม่ได้จัดการกองทุนรวมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ เห็นได้จากแถลงการณ์ลงวันที่ 19 มิ.ย.2566 ว่า “บริษัทได้ส่งทีมนักวิเคราะห์เข้าชมโรงงาน  Phelps Dodge ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ STARK เพื่อประเมินความสามารถในการดําเนินกิจการ โดยประเมินเบื้องต้นว่าบริษัทยังคงสามารถดําเนินกิจการได้ จึงไม่ได้ขายหุ้นออกไปทั้งหมด และรอการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่ผ่านการรับรองโดยผู้สอบบัญชีในวันที่ 16 มิ.ย.2566 เพื่อใช้ประเมินการลงทุนในหุ้น STARK ต่อไป”

ซึ่งในความเป็นจริงปรากฏว่าผู้กระทำผิด ขาดความระมัดระวังในการรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ เพราะขณะที่ บลจ. อื่นๆ แจ้งว่าได้ขายหุ้น STARK ออกไปหมดแล้ว แต่ผู้กระทำผิดยังคงถือครองหุ้นไว้จำนวนมากถึง 670 ล้านหุ้น และได้ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จตามข้อ2 และยังขาดความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ เพราะยังเห็นว่ากิจการ STARK ยังจะสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จึงไม่ได้ขายหุ้นออกไปทั้งหมด และยังถือครองหุ้นไว้จำนวนมาก จนท้ายที่สุดต้องขายออกไปในราคาที่แทบจะสิ้นมูลค่าแล้ว อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายทุจริต ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียผลประโยชน์อันพึงได้รับ 

4.ผู้กระทำผิดยังมีพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นว่าอาจจะมีการทุจริต โดยทำการซื้อขายหุ้นที่ไม่โปร่งใส ผิดจากวิสัยของการบริหารกองทุนโดยทั่วไป โดยทำการไล่ซื้อราคา STARK ในราคาสูง ปริมาณมาก กระจุกตัว และยังซื้อกระจุกตัวในหุ้นเครือ STARK อีกหลายตัว ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ในเครือเดียวกับ STARK เช่น TOA และ DPAINT เป็นต้น ซึ่งผิดจากปกติวิสัยของการลงทุน

5.นอกจากนั้นยังพบด้วยว่าผู้กระทำผิดได้มีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สุจริตและมีความขัดแย้งทางผลประโยนชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุนหลายกรณี เช่น การเข้าไปลงทุนหุ้น SKY แบบซื้อบิ๊กล็อตราคา 30.25 บาท ตอนที่มีการไล่ราคาหุ้นขึ้นไปเพียงแค่ 2เดือน ทั้งที่ราคาทรงๆ ตัวอยู่เขต 10 บาท นานเป็นปี แต่ไม่ยอมลงทุนซื้อตอนราคาหุ้นถูกๆ หรือซื้อบิ๊กล็อตหุ้น ADD ตอนมีการไล่ราคาขึ้นไป 30 บาท แล้วมาตัดขายขาดทุนที่ 10 บาท หรือพฤติกรรมไล่ราคาซื้อหุ้น SAMART และ SAMTEL ในราคา 30-45บาท เมื่อปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนแปลงไปทางลบอย่างมีนัยยสำคัญ ก็ไม่ปรับพอร์ตใดๆ เพิ่งจะมาขายตัดขาดทุนแถวราคา 3-5บาท ในต้นปีนี้ ทั้งที่กิจการกำลังฟื้นตัว

อันเป็นพฤติการณ์กระทำผิด กฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มาตรา124/1 และกฎหมายอาญามาตรา 343 และมาตรา 353 ไม่ได้จัดการกองทุนรวมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุน และกระทำการโดยทุจริต ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียผลประโยชน์อันพึงได้รับ และอาจกระทำผิดต่อมาตราอื่นๆ ของ พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ

ข้าพเจ้าและประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อ เคยเข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2566 ได้โปรดอำนวยความยุติธรรมในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการคุ้มครองผู้ลงทุน ผู้ถือหน่วยลงทุนให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และกอบกู้ฟื้นฟูความเชื่อมั่นกลับมาสู่ตลาดทุนโดยไว ด้วยการดำเนินการสืบสวนสอบสวน และเป็นตัวแทนของข้าพเจ้าและประชาชนผู้ถือหน่วยลงทุนท่านอื่นๆ ที่เป็นเหยื่อประสบความเสียหายในกรณีทำนองเดียวกัน แต่เวลาผ่านมากว่าครึ่งปีแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด สำนักงาน ก.ล.ต.ไม่เคยสอบถามข้อมูลใดๆ จากข้าพเจ้าและผู้สียหายเพิ่มเติม ข้าพเจ้าและประชาชนผู้เสียหายจึงเกรงว่าจะไม่ได้รับความยุติธรรม จึงหวังให้ DSI ได้รับเป็นคดีพิเศษ แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดี