posttoday

CREDIT ปิดเทรดวันแรก 27.50 บาท ต่ำจอง 5.17%

09 กุมภาพันธ์ 2567

CREDIT ปิดเทรดวันแรก 27.50 บาท ลดลง 5.17% จากราคาไอพีโอ 29.00 บาท มองเป็นไปตามสภาวะตลาดฯ แต่ปัจจัยพื้นฐานธุรกิจแกร่ง ตั้งเป้าสินเชื่อปี 67 โต 20-30% ด้าน FA ยันตั้งราคาเหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน ราคาหุ้นปรับตัวลงถือโอกาสดี-เป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนรายย่อย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) หรือ CREDIT เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันนี้ (9 ก.พ.2567) เป็นวันแรก ในกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน หมวดธุรกิจธนาคาร 

โดยเปิดซื้อขายที่ราคา 27.50 บาท ปรับลดลง 1.50 บาท หรือคิดเป็นลดลง 5.17% จากราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ราคา 29.00 บาท ระหว่างวันปรับตัวขึ้นไปทำราคาสูงสุดที่ 27.75 บาท ปรับตัวต่ำสุดที่ 25.25 บาท และปิดซื้อขายที่ราคา 27.50 บาท ปรับลดลง 1.50 บาท หรือคิดเป็นลดลง 5.17% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 867.18 ล้านบาท   

นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) หรือ CREDIT เปิดเผยว่า ราคาหุ้น CREDIT เข้าเทรดวันแรกต่ำจอง คาดเป็นไปตามสภาวะตลาด อย่างไรก็ตาม ในแง่ปัจจัยพื้นฐานธนาคารยังเติบโตได้ โดยในปี 2567 ธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อเติบโต 20-30% 

โดยการระดมทุนในครั้งนี้ จะนำเงินที่ได้ไปใช้เสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนของธนาคาร เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายพอร์ตสินเชื่อ ปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) และโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

นายกนต์ธีร์ ประเสริฐวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) กล่าวว่า การตั้งราคาขายหุ้น IPO ในราคา 29.00 บาท/หุ้น มีความเหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานธุรกิจ ซึ่งธนาคารดำเนินธุรกิจการให้บริการสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (MSME) และสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (Nano and Micro Finance) มีความแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งแตกต่างจากธุรกิจ Non-Bank ที่เน้นการบริโภค ดังนั้นการตั้งราคา IPO ของหุ้น CREDIT จึงอยู่ช่วงกึ่งกลางของ 2 ธุรกิจ 

โดยคิดจากอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (P/BV) เท่ากับ 2 เท่า ถือว่าเป็นราคาเหมาะสมอยู่ระดับปานกลาง คือ ราคาต่ำกว่า Non-Bank ที่ P/BV เฉลี่ยที่ 2.6-3 เท่า และสูงกว่าธนาคารพาณิชย์เล็กน้อย เฉลี่ยที่ 1.8 เท่า ซึ่งเป็นธนาคารที่มีความมั่นคงเหมือนธนาคารพาณิชย์ แต่สร้างการเติบโตคล้ายกับ Non-Bank

อย่างไรก็ตาม มองว่าตลาดไอพีโอผันผวนและภาวะตลาดขณะนี้ที่นักลงทุนยังรอติดตามหลายๆ ปัจจัย ดังนั้นจากราคาหุ้นที่ปรับตัวลง เป็นโอกาสดีและเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนรายย่อย ซึ่งไม่บ่อยนักที่จะมีธุรกิจแบงก์เข้ามาเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีนักลงทุนสถาบันต่างชาติให้ความสนใจจองซื้อเต็ม และยังเป็นหุ้นแบงก์ที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว 

รวมทั้งเป็นแบงก์ที่มีส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) สูงสุดในอุตสาหกรรม โดยในงวด 9 เดือน ปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 8.2% อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROE) อยู่ในระดับสูงที่ 21.8% สะท้อนการเติบโตอย่างมั่นคงในฐานะธนาคารพาณิชย์ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่มีการเติบโตแข็งแกร่งภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ