posttoday

JKN ขอเลื่อนไต่สวนฯ เหตุพยานผู้ร้องขอป่วย ศาลนัดใหม่ 5-7 มี.ค.67

29 มกราคม 2567

JKN ขอเลื่อนไต่สวนขอฟื้นฟูกิจการ เหตุพยานผู้ร้องขอป่วย ไม่สามารถเบิกความได้ ศาลล้มละลายกลางกำหนดนัดใหม่ 5-7 มี.ค.67

ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายหุ้นกู้ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN เปิดเผยว่า ตามที่ JKN ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องในวันที่ 9 พ.ย.2566 โดยศาลล้มละลายกลางได้กำหนดวันไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันนี้ (29 ม.ค.) ปรากฏว่า พยานของผู้ร้องขอ (JKN) เจ็บป่วยไม่สามารถเบิกความต่อศาลได้ ซึ่งมีใบรับรองแพทย์มาแสดงศาลฯ 

โดยทางศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งนัดพิจารณาไต่สวนใหม่ โดยจะไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีอีกไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ มีกำหนดการดังนี้

  • วันที่ 5 มี.ค.2567 ไต่สวนฝ่ายผู้ร้องขอ
  • วันที่ 6 มี.ค.2567 ไต่สวนฝ่ายผู้คัดค้าน
  • วันที่ 7 มี.ค.2567 สำรองเผื่อไต่สวนไม่สำเร็จ 

สำหรับการยื่นคำร้องไต่สวนเพื่อขอฟื้นฟูกิจการของ JKN ในฐานะลูกหนี้ ได้แต่งตั้ง บริษัท สำนักงานกฎหมายฟาร์อีสท์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นที่ปรึกษากฎหมาย เพื่อดำเนินกระบวนการฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลาง และ บริษัท เพลินจิต แอดไวเซอรี่ แอนด์ แพลนเนอร์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเสนอต่อเจ้าหนี้และศาลล้มละลายกลาง แต่ถูกคัดค้านจากเจ้าหนี้ทุกฝ่าย 

ขณะที่ทางเจ้าหนี้ได้เสนอผู้ทำแผน  2 ราย คือ บริษัท เอิร์นสท์ แอนด์ ยัง (Ernst & Young หรือ EY) และ บริษัท ดิสคัฟเวอร์ แมเนจเม้นท์ จำกัด

อนึ่ง JKN ได้ชี้แจงถึงแนวทางของแผนฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น ดังนี้ 

(1) การปรับโครงสร้างกิจการ และโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับสมมติฐานทางการเงิน และสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ตลอดจนแก้ไขปัญหาของกิจการในส่วนของเงินทุนหมุนเวียน เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท รวมถึงการปรับโครงสร้างภายในองค์กร 

(2) การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การผ่อนผันในเรื่องอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้บริษัทสามารถสร้างรายรับจากการประกอบกิจการและนำมาจัดสรรชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้อย่างครบถ้วน และบริษัทยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้ 

(3) การได้รับเงินสนับสนุนทางด้านการเงินจากแหล่งเงินทุน โดยได้รับจากผู้ลงทุนรายใหม่ หรือสถาบันการเงินเพื่อเป็นการหมุนเวียนในกิจการของบริษัท 

(4) การจัดหาแนวทางการดำเนินการขายทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือก่อให้เกิดรายได้ เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินดังกล่าวมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย 

(5) การจัดเตรียมแผนงาน และกลยุทธ์ในการบริหารสภาพคล่องของบริษัท และการปรับปรุงระบบ โครงสร้างภายในองค์กร และการพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ