posttoday

ผ่าเกมอสังหาฯปีมังกรทอง 2567 ไม่ง่ายแต่ไม่ยาก

17 ธันวาคม 2566

อสังหาปี67 ยังไม่พ้นปากเหว เหตุเศรษฐกิจฟื้นช้า หนี้ครัวเรือนพุ่ง บวกต้นทุนค่าก่อสร้างขยับ ค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 5% กระทบต้นทุนรวมเพิ่ม 1% ฟากโบรกส่องพื้นฐาน 15 หุ้นอสังหาปีมังกรทอง ตัวไหนฝ่าด่านยากดีที่สุด

ปี 67 ยังต้องลุ้น

     นางสาวนวลพรรณ น้อยรัชชุกร ผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ทิศทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567 อาจต้องติดตามความชัดเจนอีกครั้ง เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีกำหนดเปิดเผยแผนงานช่วงต้นปีหน้า อย่างไรก็ดีฝ่ายวิจัยประเมินมูลค่าเปิดโครงการใหม่ปีหน้าไม่น่าจะต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท โดยอาจไม่สูงเท่าปีนี้ที่มีจำนวน 310 โครงการ มูลค่า 4.5 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์หากเป็นไปตามแผนทั้งหมด เนื่องจากยังมีปัจจัยท้าทายที่ต้องเฝ้าระวัง ทั้ง การเติบโตของเศรษฐกิจ, ทิศทางดอกเบี้ย และการเพิ่มขึ้นของค่าแรง 

     โดยสินค้าที่ผู้ประกอบการคงให้ความสนใจยังคงเป็นกลุ่มแนวราบ เนื่องจากยังเป็นสินค้าที่มีความต้องการซื้ออย่างแท้จริง(Real Demand)แต่อาจเห็นการขยับของเป้าหมายกลุ่มลูกค้าเน้นไปยังกลุ่มกลางบน-บนมากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยกว่ากลุ่มกลาง-กลางล่างที่มีปัญหาการขอสินเชื่อกู้ซื้อบ้าน ส่วนการเปิดคอนโดฯใหม่ คาดมีจำนวนมากขึ้น หลังปริมาณอุปทาน(Supply)ลดลงบางส่วนตั้งแต่ช่วงโควิด-19 

     ขณะที่ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในกลุ่มคอนโดฯเห็นการฟื้นตัวมากขึ้นและจะได้รับการตอบรับที่ดี หากอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพ และราคาสมเหตุสมผลที่เหมาะสมกับกลุ่ม Real Demand แม้ผู้ประกอบการเตรียมแผนเปิดโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อว่ายังคงตั้งอยู่บนความระมัดระวัง และสามารถปรับเปลี่ยนหรือยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ผ่าเกมอสังหาฯปีมังกรทอง 2567 ไม่ง่ายแต่ไม่ยาก  

     หากมีปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบต่อดีมานด์ รวมถึงคงให้ความสำคัญต่อปริมาณ Supply ในตลาด เนื่องจากหากพิจารณาสต๊อกคงค้างในโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาและพร้อมขายของผู้ประกอบการรายใหญ่ 15 ราย ณ สิ้นไตรมาส 3/66 พบว่ามีมูลค่าคงเหลือขาย 6.94 แสนล้านบาท ถือเป็นระดับสูงสุดจากแนวราบที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4.26 แสนล้านบาท ส่วนคอนโดฯ 2.67 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนนี้เป็นคอนโดฯสร้างเสร็จพร้อมโอนฯ 1.28 แสนล้านบาท ลดลงตั้งแต่ไตรมาส 4/65สะท้อนถึงการระบายสต๊อกคอนโดฯพร้อมอยู่ทำได้ดี 

     หากนำสต๊อกคงค้างทั้งหมดสิ้นไตรมาส 3/66 รวมกับมูลค่าเปิดโครงการใหม่ไตรมาส 4/66 ตามแผน 2 แสนล้านบาททำให้ Supply ที่พร้อมขายสิ้นปี66 จะเพิ่มเป็น 9 แสนล้านบาท และหากมีการเปิดโครงการใหม่ปี67 อีกไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท ก็จะยิ่งเพิ่มปริมาณ Supply พร้อมขายสูงขึ้นไปถึง 1.3 ล้านล้านบาท ขณะที่แต่ละปีมียอดขายใหม่เฉลี่ย 3.5 แสนล้านบาท/ปี หากต้องการดูดซับ Supply ทั้งหมด คาดต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ทำให้ประเด็น Supply เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญและเฝ้าระวังต่อไป

     กิจกรรมการตลาดของที่อยู่อาศัยในไตรมาส 4/66 คาดเป็นไปอย่างเชิงรุกมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกปี66 หลังสถานการณ์การเมืองในประเทศมีความชัดเจน ภายใต้การนำของรัฐบาลใหม่ที่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เพื่อผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจมหภาค ประกอบกับช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีถือเป็นช่วงฤดูกาลของธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ผู้ประกอบการต่างเดินหน้าเปิดโครงการใหม่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก

     พร้อมกับจัดกิจกรรมการตลาดผ่านการออกงานอีเว้นท์และแคมเปญต่างๆ เพื่อกระตุ้นการขายและโอนกรรมสิทธิ์ สะท้อนจากข้อมูลของ AREA รายงานเดือน ต.ค.66 มีจำนวนยูนิตที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในกรุงเทพที่ 1.3 หมื่นยูนิต เพิ่มขึ้น 9.5% YoY และ 80% MoM แตะระดับสูงสุดใหม่ในรอบ 4 ปี และในแง่มูลค่าโครงการใหม่สูงขึ้น 61% YoY และ 63% MoM อยู่ที่ 8.1 หมื่นล้านบาท แตะระดับสูงสุดใหม่รอบ 5ปีเชื่อว่าการเปิดโครงการใหม่จะเพิ่มขึ้นใน พ.ย.-ธ.ค.66 สอดคลองกับแผนธุรกิจของผู้ประกอบการ 20 บริษัท พบว่าการเปิดโครงการใหม่ในไตรมาส 4/66 จะสูงสุดของปีทั้งในเชิงจำนวนและมูลค่า
โดยมีทั้งสิ้น 118 โครงการ มูลค่า 2.06 แสนล้านบาท (เทียบกับ 9 เดือนปี66 รวม 2.43 แสนล้านบาท) แบ่งเป็นกลุ่มแนวราบ 88 โครงการ มูลค่า 1.29 แสนล้านบาท และคอนโดฯ 30 โครงการ มูลค่า 7.77 หมื่นล้านบาท 

     ทั้งนี้การเปิดโครงการส่วนใหญ่กระจุกตัวจาก 3 ผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น AP, SIRI และ LH รวมกันมีมูลค่า 1 แสนล้านบาท (สัดส่วนเกือบ 50% ของมูลค่าเปิดโครงการใหม่รวมในไตรมาส 4/66) ภายใต้ไตรมาส 4/66 ที่มีการเปิดโครงการใหม่จำนวนมากทั้งแนวราบและคอนโดฯซึ่งหลายโครงการเฉพาะอย่างยิ่งคอนโดฯใหม่ เห็นการตอบรับที่ดีเกินคาดจากกลุ่มผู้ซื้อ จากปัจจัยของทำเลที่ตั้ง และราคาที่เหมาะสม อาทิ คอนโดฯใหม่ของ SC อย่าง COBE เกษตร-ศรีปทุม มูลค่า 1.6 พันล้านบาท เปิดต้น ต.ค. มียอดขายกว่า 70% ตามด้วย Wan Vayla ณ เจ้าพระยา ของ LH ที่เปิดขายปลาย ต.ค.ที่ผ่านมา มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท สามารถสร้างยอดจอง 30% ณ วันเปิดจอง

     นอกจากนี้ ยังมีคอนโดฯใหม่ของ AP อย่าง Rhythm เจริญนคร ไอโคนิก เพิ่งเปิดขายเมื่อปลาย พ.ย. ที่ผ่านมา ด้วยมูลค่า 5 พันล้านบาท มียอดจองสูงถึง 80% หรือ 4 พันล้านบาท ดังนั้นเมื่อรวมกับการจัดกิจกรรมการตลาดอย่างคึกคักช่วงสุดท้ายของปีย่อมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนยอด Presale เพิ่มมากขึ้นจากไตรมาส 3/66 โดยมีโอกาสแตะระดับ 1 แสนล้านบาท และหนุนให้Presale รวมทั้งปี66 ใกล้เคียงปีก่อนที่ 3.48 แสนล้านบาท พลิกจากช่วง 9เดือนแรกปี66 ติดลบ 6% YoY

ผ่าเกมอสังหาฯปีมังกรทอง 2567 ไม่ง่ายแต่ไม่ยาก      AP เด่นสุด

     แม้ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยคงเผชิญกับปัจจัยท้าทายที่มีผลต่อกำลังซื้อ แต่ปัจจัยหนุนจากทิศทางกำไรไตรมาส 4/66 จะฟื้นตัวมากขึ้น QoQ และทำจุดสูงสุดของปี ขณะที่ปี 67 คาดกำไรเติบโต 9.8% เท่ากับ 4 หมื่นล้านบาท จากความคาดหวังนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้ง EASY E-RECEIPT และ DIGITAL WALLET จะหนุนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจมหภาคมากขึ้น และทิศทางดอกเบี้ยที่คาดสิ้นสุดขาขึ้น และมีโอกาสปรับลดลงปี67 

     ขณะที่ผู้ประกอบการยังมีการเปิดโครงการใหม่ โดยเฉพาะแนวราบและการส่งมอบคอนโดฯใหม่ต่อเนื่อง นอกจากนี้ Valuation หุ้นที่ไม่แพง ด้วย PER ซื้อขายเฉลี่ย 7-8 เท่า และดึงดูดด้วยเงินปันผลเฉลี่ยสูงกว่า 6% ต่อปีจะเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนราคาหุ้นระยะสั้น คงแนะนำลงทุน NEUTRAL สำหรับกลุ่มฯเลือกหุ้นเด่นที่มีพื้นฐานแข็งแรง มีสินค้ากระจายตัวทั้งแนวราบและคอนโดฯ รวมถึงพอร์ตลูกค้าระดับกลาง-บน เป็นหลักและเงินปันผลจูงใจ ตามธีมลงทุนดังนี้

     1. หุ้นที่ทำกำไรสูงสุดต่อเนื่อง คือ AP มูลค่ายุติธรรม(Fair Value) 16 บาท คาดกำไรในไตรมาส 4/66 เพิ่มขึ้น YoY และผลักดันกำไรปกติปี66 สู่ระดับสูงสุดตลอดกาลอยู่ที่ 6.09 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% YoY และต่อเนื่องเป็น 6.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% YoY ปี67 ขณะที่ราคาหุ้นมี PER ซื้อขายต่ำกว่า 6 เท่า พร้อมคาดปันผลรอบปี66 จูงใจถึง 6.3% ต่อปี โดยมีนโยบายจ่ายเงินปันผลปีละครั้ง

     2. หุ้นที่มีกำไรฟื้นตัวชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 4/66 และกลับมาเติบโตรอบใหม่ปี 67 คือ LH มูลค่ายุติธรรม 10 บาท การดำเนินงานไตรมาส 4/66 จะเติบโตแรง QoQ หนุนจากทุกธุรกิจทั้งอสังหาฯ เพื่อขายที่มีการเปิดโครงการแนวราบใหม่จำนวนมาก, ธุรกิจอสังหาฯเพื่อเช่า โดยเฉพาะโรงแรม และศูนย์การค้า ตลอดจนบริษัทร่วม เช่น HMPRO ได้อานิสงค์จากการเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว และจับจ่ายใช้สอยส่งท้ายปี 

     นอกจากนี้การขายโรงแรมพัทยา 2 แห่งเข้ากอง LHHOTEL จะทำให้รับรู้กำไรพิเศษเพิ่มเติมอีกทาง ขณะที่ปี67 คาดกำไรปกติ 7.3 พันล้านบาทเติบโต 25.5% จากฐานต่ำปีนี้ที่คาดกำไร 6 พันล้านบาท ด้านเงินปันผลยังจูงใจ โดยคาดช่วงครึ่งหลังปี66 จ่ายหุ้นละ 0.35 บาท หรือ 4.6% และโดดเด่นเฉลี่ย 7% ต่อปีในปี67

     SPALI มูลค่ายุติธรรม 27.30 บาท ดาดกำไรฟื้นตัวสูง QoQ ในไตรมาส 4/66 จาก Backlog แนวราบรอรับรู้รายได้จำนวนมาก และปี67 กำไรคาดกลับมาเติบโต 10% เท่ากับ 6.66 พันล้านบาท จากปี66 ที่ 6.06 พันล้านบาท ลดลง 25.8% YoY หนุนจากการส่งมอบคอนโดฯใหม่ 5 โครงการ เพิ่มจากปีนี้ที่มีเพียง 2 โครงการ และแผนเปิดโครงการใหม่เชิงรุก ด้านราคาหุ้นปัจจุบันมี PER ต่ำกว่า 6 เท่า และสามารถคาดหวังเงินปันผลมากกว่า 7% ต่อปี จ่ายปันผลปีละ 2 ครั้ง

     SC มูลค่ายุติธรรม 4.80 บาท ไตรมาส 4/66 จะเป็นจุดสูงสุดของปี รองรับด้วย Backlog,เปิดแนวราบใหม่และขายสต๊อกคอนโดฯพร้อมอยู่ ขณะที่แผนเปิดโครงการแนวราบใหม่ต่อเนื่อง และโอนกรรมสิทธิ์ 2 คอนโดฯ ใหม่ในช่วงครึ่งหลังปี67 เทียบกับปี66 ไม่มีส่งมอบคอนโดฯใหม่ ซึ่งฝ่ายฯคาดผลักดันกำไรปกติปี67 อยู่ที่ 2.52 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากปี66 คาดกำไร 2.3 พันล้านบาท ลดลง 11% YoY ส่วนราคาหุ้นมี PER ซื้อขายต่ำกว่า 6 เท่า และ Div Yield กว่า 7-8% จ่ายปันผลปีละ 2 ครั้ง

     3. หุ้นที่มีปันผลสูง ได้แก่ SIRI มูลค่ายุติธรรม 2.20 บาท เด่นด้วยเงินปันผลจูงใจ ภายใต้คาดปันผลช่วงครึ่งหลังปี66 หุ้นละ 0.09 บาท หรือ เฉลี่ย 5.4% ขณะที่ปี67 แม้ประเมินกำไรปกติลดลง8% อยู่ที่ 4.8 พันล้านบาท จากฐานสูงปี66 ที่คาด 5.2 พันล้านบาท แต่ยังคงให้ผลตอบแทนเงินปันผลสูงกว่า 8% ต่อปี ขณะที่ราคาหุ้นปัจจุบันมี PER เฉลี่ย 6 เท่า และ PBV 0.6 เท่า

ผ่าเกมอสังหาฯปีมังกรทอง 2567 ไม่ง่ายแต่ไม่ยาก

ปี 67 ท้าทายแต่โต

     บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) ประเมินภาพอสังหาฯในปี67 ยังมีปัจจัยท้าทายรออยู่ อย่างค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยโดยเฉพาะสินค้าชิ้นใหญ่ เช่น บ้าน และรถยนต์ลดลง และอัตราดอกเบี้ยระดับสูงที่ส่งผลกระทบต่อทั้งต้นทุนของผู้ประกอบการและการชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น 

     อย่างไรก็ดีบรรดาผู้ประกอบการมีการทยอยปรับกลยุทธ์การดำเนินงานหันมามุ่งระบายสินค้าคงคลังมากขึ้น และเพิ่มสัดส่วนประเภทผลิตภัณฑ์ของโครงการที่เปิดตัวใหม่ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี66 ซึ่งเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บนที่กำลังซื้อมีความทนทานต่อสภาวะดอกเบี้ยสูง และมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันทางการเงินที่ต่ำกว่า Segment อื่น ฝ่ายฯประเมินกำไรปกติปี67ของกลุ่มอสังหาฯ ภายใต้ Coverage ของเราไว้ที่ 3.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% YoY

กำไร Q4 พีคสุด

     ในช่วงที่เหลือของปีเราประเมินว่าตลาดอสังหาฯ จะคึกคักขึ้นตามการเปิดตัวโครงการใหม่ที่เกือบทุกบริษัทฯต่างเร่งตัวขึ้น รวมทั้งการจัดโปรโมชันเพื่อกระตุ้นยอดขาย และแย่งชิงหรือรักษาส่วนแบ่งการตลาด อย่างไรก็ตาม ฝ่ายฯมองว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ (SG&A) สะท้อนกลับมายังอัตรากำไรจากการดำเนินงานที่จะได้รับแรงกดดันและจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนผู้ประกอบการที่สามารถบริหารต้นทุนและควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้แนวโน้มผลการดำเนินงานเด่นกว่ากลุ่ม

     ฝ่ายฯคาดผลประกอบการกลุ่มอสังหาฯไตรมาส 4/66 เติบโตเด่น QoQ และเป็นจุดสูงสุดของปีหนุนจากแผนการเปิดโครงการแนวราบใหม่ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในช่วงไตรมาส 4/66 มูลค่ารวมอยู่ที่ 9.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 60.1% QoQ , เพิ่มขึ้น 120.7% YoY รวมถึงรับรู้รายไดต้ามกำหนดการโอนกรรมสิทธิ์ของ Backlog โครงการแนวสูงที่หนาแน่น และคาดวัฏจักรการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสิ้นสุดที่ 2.50% ขณะที่เทียบ YoY ชะลอตัวจากฐานสูงที่มีการเร่งโอนก่อนการผ่อนคลายมาตรการ LTV สิ้นสุดลงตอนเดือน ธ.ค.65

     แม้ว่าปัจจุบัน Valuation ของกลุ่มอสังหาฯ อยู่ในเกณฑ์ถูกด้วย PER67 เฉลี่ยเพียง 6.6x และให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ยสูงถึง 6.5% ต่อปีอย่างไรก็ตาม แนวโน้มผลประกอบการในปี67 ถูกกดดันจากภาวะเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ฝ่ายฯคงน้ำหนักลงทุนหุ้นกลุ่มอสังหาฯ“เท่ากับตลาด”

     เลือก LH และ BRI เป็น Top pick ของกลุ่มอสังหาฯ จากแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4/66 เติบโตโดดเด่นและเป็นจุดสูงสุดของปีหนุนจาก Backlog จำนวนมากที่จะพร้อมโอนในไตรมาส และปัจจัยเฉพาะตัว ดังนี้

     1) LH ราคาเป้าหมาย 7.90 บาท จะมีรายได้ค่าธุรกิจโรงแรมและธุรกิจให้เช่าพื้นที่ที่เข้าสู่ช่วง High Season มาช่วยหนุน อีกทั้งในไตรมาส 4/66จะมีการรับรู้กำไรพิเศษจากการขายโรงแรม 2 แห่งใน ฝ่ายฯคาดอยู่ที่ 2.5-2.8 พันล้านบาท(หลังหักภาษี) ส่งผลให้คาดเงินปันผลช่วงครึ่งหลังปี66 ที่ 0.46 บาท/หุ้น คิดเป็น Dividend yield สูงถึง 6.1% นอกจากนี้ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจร่วมลงทุนมีสัดส่วนถึง 40-50% ของกำไรบริษัทฯ ซึ่งฝ่ายฯมองว่าจะช่วยจำกัดความผันผวนของบริษัทจากธุรกิจอสังหาฯ 

     และ 2) BRI ราคาเป้าหมาย 10.90 บาท มี Valuation ปัจจุบันถูกที่สุดในกลุ่ม ราคาซื้อขายที่ PER67เพียง 4.2x ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 6.6x อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้ง เราคาดเงินปันผลงวดครึ่งหลังปี66 ที่ 0.61 บาท/หุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทนที่สูงถึง 7.3%

ผ่าเกมอสังหาฯปีมังกรทอง 2567 ไม่ง่ายแต่ไม่ยาก

Q4/66 แข่งเดือด 

     นายสรพงษ์ จักรธีรังกูร ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย ระบุว่า จากยอดขายและกำไรสุทธิช่วง 9เดือนแรกปี66 ที่ 63% และ 67% ของเป้าหมายและประมาณการณ์กำไรทั้งปีนี้ของเราทำให้ผู้พัฒนาอสังหาฯคงแผนเปิดตัวโครงการใหม่ในเชิงรุกในปี 66 และจากมูลค่าโครงการใหม่ในช่วง 9 เดือนแรกที่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ มูลค่าโครงการใหม่ในไตรมาส 4/66 จึงจะอยู่ในระดับสูงที่ 1.96 แสนล้านบาท หรือเท่ากับ 48% และ 59% ของมูลค่าโครงการใหม่ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้และทั้งปี65 สถานการณ์ดังกล่าวคาดจะก่อให้เกิดการแข่งขันรุนแรงในไตรมาส 4/66

     ทั้งนี้ ฝ่ายฯมองว่าผู้พัฒนาอสังหาฯรายใหญ่ที่มีข้อได้เปรียบมากกว่าบริษัทขนาดเล็กกว่าในหลายด้าน เช่น แบรนด์, ต้นทุนในการพัฒนา, ต้นทุนดอกเบี้ยและการครอบคลุมของโครงการที่อยู่อาศัย (ทำเล, ระดับราคาสินค้าและประเภทของที่อยู่อาศัย)จะสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดจากตลาดได้ ทั้งนี้ AP, ORI, SC และ SIRI ถูกจัดประเภทให้อยู่ในกลุ่มนี้ ขณะที่ LH และ SPALI ก็อยู่ระหว่างการพลิกฟื้นโมเมนตัมการขาย

     ฝ่ายวิเคราะห์คงมุมมองเป็นกลางต่อกลุ่ม แม้คาดกำไรสุทธิในปี 66-67 ของทั้งกลุ่มจะไม่น่าตื่นเต้นแต่ DY ที่สูงกว่า 7.5% และมูลค่าที่ไม่แพง (ซื้อขายด้วย PER ปี66 ที่ 5-6 เท่า)หนุนคำแนะนำของเรา กำไรสุทธิที่คาดฟื้นในไตรมาส 4/66 จะเป็นปัจจัยหนุนในระยะสั้น เลือก AP และ ORI เป็นหุ้นเด่น แม้ ORI เลื่อนการเปิดขาย IPO ของ ONEO ออกไปจากไตรมาส 4/66 เป็นไตรมาส 1/67 ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อบรรยากาศลงทุนในระยะสั้น

     สำหรับ SPALI และ LH โดดเด่นในเรื่องของการฟื้นตัวที่ชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 4/66 ขณะที่ SIRI , SC และ BRI น่าสนใจในแง่ของมูลค่าหุ้นและสตอรี่เฉพาะตัว ANAN เป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงและผลตอบแทนสูงจากปัจจัยเฉพาะของบริษัท และเพื่อสะท้อนการปรับลดประมาณการกำไร ฝ่ายฯจึงลดราคาเป้าหมาย SENA ลงเป็น 2.7 บาท

ผ่าเกมอสังหาฯปีมังกรทอง 2567 ไม่ง่ายแต่ไม่ยาก      สรุปงบไตรมาส 3/66 หุ้นอสังหาริมทรัพย์ กำไรสุทธิไตรมาส 3/66 อ่อนแอ โดยบริษัทพัฒนาที่อยู่อาศัย 12 บริษัทรายงานกำไรสุทธิรวมไตรมาส 3/66 ที่ 8.2 พันล้านบาท ลดลง 26% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน(YoY) หรือ 17% เทียบไตรมาสก่อน(QoQ) ต่ำกว่าที่ฝ่ายฯและตลาดคาดไว้ 4%และ 6% ตามลำดับ

     อุปสงค์ที่อยู่อาศัยที่อ่อนแอกว่าคาดในช่วงที่สถานการณ์การเมืองไม่แน่นอน กอรปกับสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวลงและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น รวมถึงมาตรการอนุมัติเงินกู้บ้านเข้มงวดมากขึ้น เป็นปัจจัยหลักที่ฉุดผลการดำเนินงานไตรมาส 3/66

     สถานการณ์ตลาดที่ไม่สู้ดีนักดังกล่าวข้างต้น ไม่เพียงแค่ฉุดรายได้จากการขายที่อยู่อาศัยในไตรมาส 3/66 ให้ลดลง 15% YoY และ 2% QoQ แต่ยังฉุดให้อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ไตรมาส 3/2566 อ่อนตัวลง 1.6ppt YoY และ 0.9ppt QoQ ขณะที่สัดส่วนค่าใช้จ่าย SG&A ต่อรายได้ก็เพิ่มขึ้นจากการประหยัดต่อขนาดที่น้อยลงเมื่อรายได้ลดลง รวมถีงการออกแคมเปญการตลาดที่มากขึ้นเพื่อหนุนยอดขายก็ส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 3/66 ลดลง 3.3ppt YoY และ 0.7ppt QoQ ด้านส่วนแบ่งกำไรในไตรมาส 3/66 ก็ลดลงเช่นกันที่ 26% YoY และ 16% QoQ