posttoday

FETCO ผนึก IAA เล็งขอเงินสนับสนุน CMDF 20 ล้าน ตั้งทีมทำบทวิเคราะห์หุ้นเล็ก

07 ธันวาคม 2566

FETCO จับมือ IAA เตรียมยื่นขอเงินสนับสนุนจาก CMDF ราว 20 ล้านบาท ภายใน 1-2 เดือนนี้ นำมาตั้งทีมทำบทวิเคราะห์หุ้นขนาดเล็ก คาดเริ่มในไตรมาส 1/67 ช่วยรายย่อยมีข้อมูลหุ้นขนาดเล็กก่อนตัดสินใจลงทุน หลังหุ้น MORE-STARK บั่นทอนความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยในงานสัมมนาแถลงแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต.2567 ในหัวข้อเสวนา “ร่วมสร้างและพัฒนาตลาดทุน เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน” ว่า การพัฒนาตลาดทุนไทยนับจากนี้จะต้องเริ่มจากการสร้างความเชื่อมั่นกลับมา (Restore trust) หลังจากที่ตลาดทุนไทยเผชิญกับปัญหาที่ส่งผลความเชื่อมั่นของนักลงทุน 

จากกรณีของ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE และ บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่กระทบและบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดทุนไทย ดังนั้นการผลักดันตลาดทุนไทยจะต้องเริ่มจากการพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทยให้กลับคืนมา 

ทั้งนี้ FETCO พร้อมดดำเนินการ ช่วยสนับสนุนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกๆ ด้าน เพื่อให้ปัญหาและความกังวลต่างๆ ลดน้อยลง เช่น กรณีการกังวลหุ้นขนาดเล็ก ซึ่ง FETCO ร่วมกับ สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ (IAA) เตรียมยื่นขอเงินสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) จำนวน 20 ล้านบาท ภายใน 1-2 เดือนนี้ เพื่อนำมาใช้สำหรับตั้งทีมงานในการทำบทวิเคราะห์หุ้นขนาดเล็กในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ในไตรมาส 1/2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปิดจุดมืดตลาดทุนไทย 

สำหรับโครงการวิเคราะห์หุ้นขนาดเล็กดังกล่าว เป็นการช่วยให้นักลงทุนรายย่อยมีข้อมูลของหุ้นขนาดเล็กก่อนตัดสินใจลงทุน และยังช่วยเพิ่มคุณภาพให้กับบริษัทเหล่านี้ให้มีความโปร่งใสมากขึ้น เนื่องจากเมื่อมีการทำบทวิเคราะห์ จะทำให้การทำบัญชีไม่เหมาะสมทำได้ยากขึ้น   

“จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า บจ.ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีประมาณ 800 บริษัท แต่มีการทำบทวิเคราะห์เพียง 200-300 บริษัทเท่านั้น ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ทำบทวิเคราะห์หุ้นขนาดใหญ่ ไม่ค่อยทำบทวิเคราะห์หุ้นขนาดเล็ก เพราะไม่คุ้มทุน” นายกอบศักดิ์ กล่าว  

นายกอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตลาดทุนไทยยังต้องมีการสร้างเสน่ห์เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาเพิ่มขึ้น ต้องมีการปรับตัวให้ Modernize เพราะว่าโลกของการลงทุนมีสินทรัพย์ไหม่ๆ เกิดขึ้นที่เป็นทางเลือกในการลงทุนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ก.ล.ต.และ ตลท.จะต้องมีแนวทางสร้างความน่าสนใจให้กับตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้าง Trust ที่ปัจจุบันลดน้อยลงก็ลดเสน่ห์ของตลาดทุนไทยลงไปด้วย

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ควรลดกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย ซึ่งบางกฎเกณฑ์ที่มีมาตั้งแต่ในอดีตอาจไม่มีสาระแล้ว ต้องปรับลดและปรับเปลี่ยนให้น้อยลง เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่เข้ามาระดมทุน ทำให้ผู้เล่นต่างๆ ทำงานในตลาดทุนได้อย่างสะดวก ไม่มีอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดทุน 

ประกอบกับ ก.ล.ต. ตลท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทย ควรร่วมกันใช้ช่องทางการบริการเพียงช่องทางเดียว (Single portal) เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการ การรายงานข้อมูล และการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกผ่านช่องทางเดียว เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ลดขั้นตอนต่างๆ เป็นต้น

สำหรับการผลักดันตลาดทุนไทยให้มีเสน่ห์และน่าสนใจมากขึ้น อาจจะต้องมองไปถึงการนำคนจากภายนอกประเทศเข้ามาระดมทุนและลงทุนในตลาดทุนไทย โดยเฉพาะการสนับสนุนแพลตฟอร์มของสตาร์ทอัพที่กำลังเติบโตและแข็งแกร่งในต่างประเทศ สามารถสร้างระบบการ Duo listing ในตลาดหุ้นไทย เพื่อให้ทำให้ผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนไทยมีความหลากหลายและทันสมัย 

ขณะเดียวกัน ESG ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างเสน่ห์ให้กับตลาดทุนไทยได้อย่างดี และเป็นเทรนด์ที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนตลาดทุนทั่วโลก แต่ FETCO มองว่า ด้าน Social (S) ยังเป็นสิ่งที่ตลาดทุนไทยไม่ได้เน้นมาก และให้ความสำคัญน้อย แตกต่างจากยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต.ที่ต้องการลดความเลื่อมล้ำในตลาดทุน ซึ่งมองว่าการมี Socail credit จะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างเสน่ห์ให้กับตลาดทุนไทย นอกเหนือจากการมี Carbon credit