posttoday

นายกฯ ชู 3 แนวทางพัฒนาตลาดทุนไทย ดันสู่ investment destination ของภูมิภาค

07 ธันวาคม 2566

นายกฯ เปิด 3 แนวทางพัฒนาตลาดทุนไทย ผลักดันไทยเป็น investment destination ของภูมิภาค พร้อม shift focus สู่ความยั่งยืน สนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล คาดกองทุน Thai ESG สร้างเม็ดเงินระดมทุนกว่า 10,000 ล้านบาท ตั้งเป้าขายตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน กว่า 30,000 ล้านบาท

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนาแถลงยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ประจำปี 2567 ในหัวข้อ “นโยบายและทิศทางการพัฒนาตลาดทุนไทย” ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับตลาดทุนเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ดึงศักยภาพและประสิทธิภาพของระบบตลาดทุน เพื่อพัฒนาตลาดทุนไทยได้อย่างเต็มที่ สู่การพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน 

โดยปัจจัยพื้นฐานของตลาดทุนไทยมีความแข็งแกร่งในระยะยาวและมีความยืดหยุ่นสูง ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหุ้น ซึ่งติดอันดับที่ 27 ของโลก และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน 

อีกทั้งมีมูลค่าเสนอขายหุ้น IPO สะสมย้อนหลังสูงที่สุดในอาเซียน เช่นเดียวกับสภาพคล่องนับตั้งแต่ปี 2555 

นอกจากนี้ รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ทั้งด้านดิจิทัลและด้านความยั่งยืน ซึ่งส่งผลกระทบควบคู่กัน (twin transition) ต่อทั้งระบบตลาดทุน เศรษฐกิจโดยรวม และความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่เศรษกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (ESG economy) 

สำหรับด้านความยั่งยืน ส่วนที่เห็นเป็นรูปธรรม คือ การจัดตั้ง Thailand ESG Fund ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่ดัชนีความยั่งยืนในระดับสากลจำนวนมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ไทยมีพันธบัตรสีเขียวและในอนาคตจะมีการระดมทุนไปดำเนินกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ได้ประโยชน์ทั้งผู้ระดมทุนไปทำสิ่งที่ดีกับสังคมและผู้มีเงินออมที่ได้ผลตอบแทนระยะยาว ควบคู่กับการส่งเสริมด้าน ESG ของประเทศด้วย 

โดยข้อมูลเบื้องต้นคาดว่าจะมีบริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) ที่เสนอขายกองทุน Thai ESG จำนวน 16 บลจ. จำนวนกองทุน 25 กองทุน สร้างเม็ดเงินระดมทุนไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท จากผู้ลงทุนที่อายุตั้งแต่ 30-60 ปี ไม่น้อยกว่า 100,000 บัญชี และคาดว่าจะช่วยสร้างนักลงทุนหน้าใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

ขณะเดียวกัน รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยตลาดทุนไทยมีบทบาทสำคัญช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ทั้งการยกระดับช่องทางระดมทุนและการบริการให้กับภาคธุรกิจและประชาชน ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 

ซึ่ง ก.ล.ต. ได้รับนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวโดยยกระดับพร้อมปรับโครงสร้างองค์กร เน้นแผนยุทธศาสตร์ และเพิ่มส่วนงานในสายนวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยี ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจ 

ขณะที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมพัฒนาการด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจและการลงทุนของประชาชน จึงได้เห็นชอบในหลักการที่ลดอุปสรรคของการส่งเสริมระบบนิเวศ (ecosystem) ของสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น ความเหลื่อมล้ำของภาษี ซึ่งจะส่งผลให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเท่าเทียมกัน ลดภาระแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในฝั่งของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ออกและเสนอขาย (issuer) รวมทั้งผู้ลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล อีกทั้งเป็นการสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการระดมทุนผ่าน investment token ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

 

นายเศรษฐา กล่าวว่า 3 แนวทางสำคัญ ที่รัฐบาลจะเสริมสร้างจุดแข็งของตลาดทุนไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความผันผวน อีกทั้งส่งเสริมโอกาสการเติบโต (prospect) และเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของทั้งตลาดทุนไทยและเศรษฐกิจโดยรวมในระยะข้างหน้าต่อไป ประกอบด้วย

 

1. การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ผลักดันให้ตลาดทุนไทยเป็น investment destination ของภูมิภาค รัฐบาลมุ่งเน้นเปิดตลาดการค้าระหว่างประเทศ เขตเศรษฐกิจ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเร่งเจรจาและขยาย Free Trade Agreement (FTA) เปิดตลาดใหม่ๆ และสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศทางยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา 

 

รวมทั้งส่งเสริมความสะดวกในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยให้กับผู้ลงทุนและธุรกิจต่างประเทศ (ease of doing business) นอกจากนี้ จะดำเนินการนำเสนอข้อมูลการลงทุนของตลาดหุ้นไทย หรือ การโรดโชว์ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่องด้วย

 

2. การ shift focus สู่ความยั่งยืน รัฐบาลจะดำเนินการและสนับสนุนทุกภาคส่วนเพื่อเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainability Development Goals) และเป้าหมายของประเทศไทยด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 จะดำเนินการส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยพัฒนากลไกให้ภาคธุรกิจมีเงินทุนเพียงพอในการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green companies) และให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยี และเงินทุนเพื่อปรับตัวให้พร้อมรับมือกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม 

 

พร้อมผลักดันนโยบายการกระตุ้นตลาดตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond Market) การระดมทุนเพื่อสนับสนุน SDGs (Financing for SDGs) และนโยบายการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล กลไกการเงินสีเขียว (green finance mechanism) 

 

โดยตั้งเป้าการออกและเสนอขายตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อให้องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินนโยบายที่สร้างความยั่งยืน และการจัดทำ Thailand Green Taxonomy ส่งเสริมการเติบโตและการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

 

3. การสนับสนุนการระดมทุนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัลและ SMEs / Startups เพื่อให้มีเงินเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ เติบโตและขยายต่อไปได้ในระดับโลก 

 

ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ภาครัฐและเอกชนจะลงทุนร่วมกันในบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ปัญญาประดิษฐ์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่วนด้าน SMEs / Startups ภาครัฐจะมีการพัฒนากลไกช่วยเหลือ SMEs / Startups อย่างครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดหาเงินทุน ตลอดจนการเปิดตลาด

นายเศรษฐา เน้นย้ำว่ารัฐบาลยังมีความหลากหลายทางนโยบายที่จะดำเนินการในภาคส่วนอื่นๆ ด้วย ซึ่งเชื่อมั่นว่าหากผนวกการดำเนินการของรัฐบาลในทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป