posttoday

AIMC ร่วมวง FETCO เข้าหารือนายกฯ สัปดาห์หน้า เสนอฟื้น LTF

07 พฤศจิกายน 2566

“สมาคมบริษัทจัดการลงทุน หรือ AIMC” ร่วมกลุ่มสมาชิก FETCO เข้าหารือนายกฯ เศรษฐา สัปดาห์หน้า เสนอฟื้น LTF สร้าง Positive Impact ตลาดหุ้น และส่งเสริมภาคการออมของประเทศ

นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) และ กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า จะเข้าร่วมในกลุ่มสมาชิกสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เข้าหารือกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในสัปดาห์หน้า เพื่อนำเสนอแนะให้รัฐบาลรื้อฟื้นกองทุนเพื่อการออมระยะยาว (LTF) เนื่องจากจะส่งผล Positive Impact ต่อตลาดหุ้นไทย ด้วยการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนของนักลงทุนสถาบัน ซึ่งปัจจุบันน้ำหนักได้ลดลงไปอย่างมาก หลังจากปรับเปลี่ยนมาเป็น SSF

นอกจากนี้ LTF จะช่วยส่งเสริมภาคการออมของประเทศให้มีความเข้มแข็งขึ้น เพราะจะเห็นได้ว่าในช่วง 5 ปี ที่ไม่มีกองทุน LTF ภาคการออมเบาบางลงไป และการเติบโตภาคการออมอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง จึงควรมีกองทุนเพื่อการออมระยะยาว เพื่อส่งเสริมภาคการออมให้กลับมาเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน LTF ยังช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งเป้า Net Zero ภายในปี 2065 และช่วยภาคธุรกิจ โดยจะเข้าลงทุนทางตรงและทางอ้อมกับบริษัทที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้เกิดการกระตุ้นบริษัทจดทะเบียน และรวมไปถึงคู่ค้าที่อาจจะเป็นบริษัทนอกตลาด ให้สร้าง Ecosystem ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และจะส่งผลทางอ้อมต่อการส่งออกของไทย เพราะขณะนี้การส่งออกไปยังยุโรป มีความสุ่มเสี่ยงมากขึ้นที่จะถูกนำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นข้อจำกัด ซึ่งการลงทุนของกองทุน LTF จะช่วยให้บริษัทหรือภาคธุรกิจสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในด้านนี้ได้

นางชวินดา กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทย (SET) ในปีนี้ให้ผลตอบแทนติดลบ 18% แย่กว่าปีที่เกิดโควิด-19 ซึ่งติดลบไปราว 7% ทั้งที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยในปีนี้ดีกว่าปีที่เกิดโควิด-19 เพราะรายได้และกำไรสูงกว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติก็เข้ามามากขึ้น ทุกตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้ดีกว่าปีที่เกิดโควิด-19 มองดูปัจจัยพื้นฐานควรดีขึ้น แต่เป็นเพราะได้รับผลกระทบจากการเมือง นโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องเงินดิจิทัล 

ในมุมมองนักลงทุนต่างชาติเมื่อเห็นว่านโยบายรัฐบาลไม่ชัดเจน รวมไปถึงปัญหาหนี้สาธารณะ และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่ยังต่ำ แต่เชื่อว่าหากนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลมีความชัดเจนก็จะส่งเสริมตลาดหุ้นไทย ขณะที่ปัจจัยนอกประเทศ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐก็คาดว่าน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังน่าลงทุน และน่าเข้าสะสม เนื่องจากแรงกระแทกจากเศรษฐกิจโลกไม่น่าจะเกิดขึ้นแล้ว รวมถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐน่าจะถึงจุดสูงสุดแล้ว และเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัจจัยในประเทศทั้งจากการเมือง และปัญหาของหุ้นในบางอุตสาหกรรมอาจจะทำให้ตลาดหุ้นยังอ่อนแอ สงครามในอิสราเอลก็หวังว่าไม่มีอะไรรุนแรงไปมากกว่านี้